Search

ประกาศแล้ว! เปิดห้างฯ-สนามกีฬา-นั่งกินในร้านได้ถึง 5 ทุ่ม มีผล 21 มิ.ย.นี้ - ประชาชาติธุรกิจ

ราชกิจจา

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ ข้อกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 24) ห้างฯ เปิดได้ถึง 3 ทุ่ม นั่งกินอาหารในร้านอาหารได้ไม่เกิน 5 ทุ่ม ผ่อนคลายกองถ่าย-ผู้ประกาศข่าว  การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ฯลฯ มีผลบังคับใช้หลังเที่ยงคืนวันนี้(21มิ.ย.)เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ข้อกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 24) ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ คือการคลายล็อกทุกพื้นที่สี และปรับพื้นที่ควบคุมตามสถานการณ์ใหม่ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด(สีแดงเข้ม) เหลือ 4 จังหวัดคือ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ การผ่อนผันให้ ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 น. แต่ยังห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน สนามกีฬากลางแจ้งเปิดได้ตามปกติ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ จนถึงเวลา 21.00 น. เป็นต้น

ทั้งนี้ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป(หลังเที่ยงคืนวันที่ 20 มิถุนายน 2564)

สำหรับรายละเอียดของประกาศฉบับดังกล่าวมีดังนี้

โดยที่รัฐบาลได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนและขับเคลื่อนแผนการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามวาระแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่แก่ประชาชนในภาคส่วนต่างๆ พร้อมกับได้บูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง

ตลอดจนประสานการปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันจนสามารถควบคุมสถานการณ์และป้องกันมีให้พื้นที่การแพร่ระบาดลุกลามกระจายออกไปในพื้นที่วงกว้าง ซึ่งหากสามารถดำเนินการตามเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่องด้วยความร่วมมือของบุคลากรภาครัฐ เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน และประชาชน จะช่วยให้สถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

จึงสมควรปรับปรุงมาตรการควบคุมแบบบูรณาการให้เป็นไปอย่างเหมาะสม รวมทั้งผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ ให้ประชาชนสามารถประกอบกิจกรรมอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพได้มากขึ้น ควบคู่กับการใช้มาตรการควบคุมโรคที่มุ่งเน้นเฉพาะเป้าหมายกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับมาตรการด้านสาธารณสุข

(1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

ก. โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้งดใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายทำให้เสี่ยงต่อการแพร่โรค เว้นแต่เป็นการใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อจัดกิจกรรมตามแนวทางหรือลักษณะที่นายกรัฐมนตรี หรือ ศบค. ได้อนุญาตไว้แล้ว ให้สามารถดำเนินการได้ โดยเสนอต่อศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) พิจารณาก่อนดำเนินการ หรือเป็นกรณีที่เคยให้ได้รับยกเว้น ดังต่อไปนี้

1) เป็นการเรียนการสอนหรือกิจกรรมเพื่อการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
2) เป็นการใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ สงเคราะห์ อุปถัมภ์ หรือให้การอุปการะแก่บุคคล
3) เป็นการจัดกิจกรรมของทางราชการหรือกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
4 ) เป็นโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่มีขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนรวมทั้งโรงเรียนไม่เกิน 120 คน หรือเป็นโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

ข. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 นาฬิกา แต่ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน โดยจำกัดจำนวนผู้นั่งบริโภคในร้านเฉพาะที่เป็นการบริโภคในห้องปรับอากาศไม่เกินจำนวนร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่งปกติ ทั้งนี้ ให้ผู้ประกอบการจัดให้มีมาตรการคัดกรองผู้เกี่ยวข้อง การจัดระเบียบผู้เข้าใช้บริการ และการเว้นระยะห่างตามคำแนะนำและมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด

ค. สนามกีฬา สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส ให้ปิดการให้บริการ ยกเว้นการใช้สถานที่เป็นที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี

ส่วนสนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง หรือสนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกา และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม เมื่อได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด

ง. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ จนถึงเวลา 21.00 นาฬิกา โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดการให้บริการ

(2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด

ก. โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากได้ โดยให้พิจารณาตามความจำเป็นและดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ

ข. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 นาฬิกา โดยห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

ค. สนามกีฬา สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกา และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนามเมื่อได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด

ง. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดการให้บริการ

(3) พื้นที่ควบคุม

ก. โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ได้ตามความเหมาะสมและความพร้อม โดยรูปแบบของการดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการจัดระเบียบและระบบต่างๆ คำแนะนำของทางราชการ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข

ข. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ภายในกำหนดเวลาปกติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

ค. สนามกีฬา สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส สามารถเปิดให้บริการได้ตามเวลาปกติ และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนามเมื่อได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด

ง. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดการให้บริการ

(4) พื้นที่เฝ้าระวังสูง

ก. โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ได้ตามความเหมาะสมและความพร้อม โดยรูปแบบของการดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการจัดระเบียบและระบบต่างๆ คำแนะนำของทางราชการ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข

ข. สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนาม

ค. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดการให้บริการ

(5) พื้นที่เฝ้าระวัง

ให้การเปิดดำเนินการของสถานที่ กิจการ และกิจกรรมในเขตพื้นที่เฝ้าระวัง สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้เมื่อมีความพร้อมโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่างๆ คำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 4 การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคล เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยกำหนดจำนวนบุคคลจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ ดังนี้

(1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คน
(2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 100 คน
(3) พื้นที่ควบคุม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 150 คน
(4) พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 200 คน
(5) พื้นที่เฝ้าระวัง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 300 คน

การจัดกิจกรรมตามวรรคหนึ่งให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ

ข้อ 5 การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยภายในเขตพื้นที่จังหวัดและการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมของแต่ละจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแล้วแต่กรณี อาจเสนอต่อ ศปก.ศบค.ตรวจสอบ กลั่นกรอง และเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในระดับท้องที่หรือเขตอำเภอที่อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดในความรับผิดชอบของตนได้ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในห้วงเวลาต่างๆ

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาจพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยสั่งปิด จำกัด หรือห้ามการดำเนินการของสถานที่ หรือสั่งให้งดการทำกิจกรรมอื่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ระบุไว้ตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในข้อกำหนดนี้ได้ โดยให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรี หรือ ศบค. กำหนด

ข้อ 6 มาตรการปิดสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วราชอาณาจักร เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่โรคออกไปเป็นวงกว้าง สถานบริการและสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน จำเป็นต้องปิดดำเนินการต่อไป โดยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแล้วแต่กรณี ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พิจารณาสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน โดยให้สั่งปิดสถานที่ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 14 วัน

เพื่อให้การบริหารจัดการและการบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 เป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงซึ่งอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละเขตพื้นที่ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแล้วแต่กรณี เสนอต่อ ศปก.ศบค. เพื่อตรวจสอบ กลั่นกรอง และประเมินความเหมาะสม ก่อนเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในการพิจารณาอนุญาตให้ผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการกับสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพรโรคที่ได้มีคำสั่งให้ปิดเป็นการชั่วคราวตามวรรคหนึ่ง

ข้อ 7 มาตรการตรวจสอบเข้มงวดกับสถานที่หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้มงวดในการตรวจสอบสถานที่หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น โรงงาน สถานที่พักของแรงงานต่างด้าว หรือสถานที่อื่นๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ในกรณีที่พบผู้ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือนและสั่งให้ผู้นั้นปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าผู้นั้นไม่ปฏิบัติตามให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ข้อ 8 มาตรการเกี่ยวกับการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของจังหวัดต้นทางและจังหวัดปลายทางแล้วแต่กรณี สามารถพิจารณาอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเดินทางเพื่อการทำงานข้ามจังหวัดได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเพื่อการทำงานข้ามเขตจังหวัดในแต่ละเขตพื้นที่เป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

ทั้งนี้ โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามแนวทางที่ทางราชการกำหนดในการเฝ้าระวัง ตรวจและคัดกรองการเดินทางและการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว

มาตรการควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวตามวรรคหนึ่ง ให้อนุโลมถึงกรณีการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเพื่อการทำงานภายในเขตจังหวัดด้วย โดยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด พนักงานเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่รับผิดชอบของแต่ละจังหวัดตรวจสอบและกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด

ข้อ 9 มาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาขยายการดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งเพื่อลดจำนวนการเดินทางของเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นระยะเวลาตามความจำเป็นและเหมาะสมเพื่อป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ การปฏิบัติงานดังกล่าวให้เพียงพอต่อภารกิจให้บริการประชาชน

ข้อ 10 การผ่อนคลายสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ การถ่ายทำภาพยนตร์รายการโทรทัศน์ หรือการถ่ายทำสื่อในลักษณะคล้ายกัน ให้สามารถดำเนินการได้ภายใต้มาตรการที่ประกาศกำหนดในการจำกัดจำนวนบุคคลที่เข้าร่วมการถ่ายทำ การยกเว้นไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าในบางกรณีหรือบางช่วงเวลาของการถ่ายทำ และต้องดำเนินการตามแนวปฏิบัติสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ตามที่ได้รับอนุมัติจาก ศบค.

ข้อ 11 การเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยว ให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการดำเนินการตามแผนและมาตรการของรัฐบาลในการเปิดพื้นที่นำร่องเพื่อรับนักท่องเที่ยว

ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การเตรียมความพร้อมของประชาชนในพื้นที่ ทรัพยากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโดยจะได้มีการกำหนดประเภท เงื่อนไข และรายละเอียดของบุคคลที่สามารถเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการท่องเที่ยวภายใต้โครงการนำร่องนี้ ซึ่งต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่จะได้กำหนดรองรับกรณีดังกล่าวนี้ไว้เป็นการเฉพาะ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดด้วย

ข้อ 12 การประเมินความเหมาะสมของมาตรการ ให้ ศปก.ศบค. พิจารณาและประเมินสถานการณ์เพื่อการปรับเขตพื้นที่ต่างๆ ให้สอดคล้องกับระดับพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนด การปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในแต่ละระดับพื้นที่สถานการณ์ รวมทั้งเสนอแนวปฏิบัติตามพื้นที่สถานการณ์เพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในห้วงเวลาต่างๆ และเสนอต่อนายกรัฐมนตรี หรือ ศบค. เพื่อพิจารณาอนุญาตต่อไป

ข้อ 13 การประสานงานและการบูรณาการประสานความร่วมมือ ให้ ศปก.ศบค. ทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติการขับเคลื่อน เร่งรัด และติดตามการปฏิบัติงานของส่วนราชการหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบูรณาการและประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ เอกชน และหน่วยงานภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งรวมถึงศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อให้การขับเคลื่อนภารกิจในการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรค

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่หรือสถานที่ที่พบการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน การบูรณาการความร่วมมือในการกระจายและแจกจ่ายวัคซีนไปยังกลุ่มเป้าหมายต่างๆ การลงทะเบียนรับวัคซีน การฉีดวัคซีนเพื่อการควบคุมและการป้องกันโรคระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การจัดหาสถานที่เพื่อใช้เป็นสถานที่รองรับ ดูแลรักษา และแยกกักหรือกักกันผู้ติดเชื้อหรือผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าติดเชื้อรวมทั้งการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพทั้งในระดับประเทศและในระดับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และสอดคล้องกับนโยบาย แนวทาง หลักเกณฑ์ และมาตรการต่างๆ ที่นายกรัฐมนตรี รัฐบาล หรือ ศบค. กำหนด

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

คลิกดูประกาศฉบับเต็มที่นี่

รายชื่อจังหวัดตามเขตพื้นที่สถานการณ์แนบท้ายข้อกำหนด (ฉบับที่ 24)

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( ประกาศแล้ว! เปิดห้างฯ-สนามกีฬา-นั่งกินในร้านได้ถึง 5 ทุ่ม มีผล 21 มิ.ย.นี้ - ประชาชาติธุรกิจ )
https://ift.tt/3xz0LEn
กีฬา

Bagikan Berita Ini

0 Response to "ประกาศแล้ว! เปิดห้างฯ-สนามกีฬา-นั่งกินในร้านได้ถึง 5 ทุ่ม มีผล 21 มิ.ย.นี้ - ประชาชาติธุรกิจ"

Post a Comment

Powered by Blogger.