Search

คอลัมน์ผู้หญิง - อิทธิพลของวงการกีฬา - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

15 มิถุนายน 2021 มีความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาที่กลายเป็นประเด็นไปทั่วโลก เมื่อหุ้นของบริษัทโคคา-โคล่า (KO)มีการปรับลดลงกว่า 1.6% หรือจากระดับ 56.10 ดอลลาร์สหรัฐ สู่ระดับ 55.22 ดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้มูลค่าของบริษัทผลิตและจำหน่ายน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ลดลงเหลือ 2.38 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่มีมูลค่ากว่า 2.42 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะขยับกลับ (Rebound) ในวันต่อมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (55.41 ดอลลาร์สหรัฐ)

การหายไปของเงินเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ของบริษัทชื่อก้องโลกที่เกิดขึ้นนี้ มาจากคลิปเพียงไม่กี่นาทีของนักฟุตบอลเบอร์ต้นของโลกอย่าง “คริสเตียโน่โรนัลโด้” กัปตันทีมชาติโปรตุเกสในการแถลงข่าวของการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020 (UEFA European Football Championship) ที่กำลังดำเนินอยู่ในช่วงเวลานี้ (แม้จะแข่งขันในปี 2021 แต่ทางสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ UEFA มีมติให้ใช้ชื่อเดิม)


“ดื่มน้ำเปล่าเถอะ” กองหน้าวัย 36 ของทีมยูเวนตุส หนึ่งในสโมสรฟุตบอลในประเทศอิตาลี กล่าวประโยคนี้ขึ้นมาหลังหยิบเอาขวดน้ำอัดลมแบรนด์ดังลงจากโต๊ะแถลงข่าว แล้วขยับตัวปรับเฟรมในการออกอากาศของช่างภาพ (ข่าว) เป็นเชิงสัญลักษ์ว่า ให้มีแค่เขา และขวดน้ำเปล่าเท่านั้น

จากนั้นเมื่อไม่กี่วันต่อมาในรายการแข่งขันเดียวกัน “ป็อกบา”นักฟุตบอลทีมชาติฝรั่งเศส ก็ทำซ้ำในเหตุการณ์เดียวกับโรนัลโด้ เพียงแต่เปลี่ยนจากการเก็บน้ำอัดลม เป็นการเก็บขวดเบียร์แทน แม้ว่าบนสลากของขวดเบียร์ยี่ห้อนั้นจะแสดงว่าไม่มีแอลกอฮอล์ผสมก็ตาม แล้วก็ขยับขวดน้ำเปล่าเข้ากรอบเฟรมให้เด่นชัด ล่าสุดนักฟุตบอลกองกลางทีมชาติอิตาลี “มานูเอล โลคาเตลี”ก็จัดการเครื่องดื่มส่วนเกินของนักกีฬาบนโต๊ะแถลงข่าวของเขาเช่นกัน และแน่นอนว่า ขวดน้ำเปล่าก็ถูกนำเข้ากรอบเฟรมตามกระแสใหม่ในตอนนี้ ซึ่งเชื่อว่า จากนี้ต่อไปสถานการณ์ในรูปแบบนี้น่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงไปสู่การแข่งขันกีฬาในประเภทอื่นๆ ตามมา

นี่เองที่ทำให้ประเด็นแบนสปอนเซอร์ของนักกีฬากลายเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทั่วโลก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า โปรแกรมการแข่งขันต่างๆ ที่เกิดขึ้น แล้วนำชื่อเสียงและรายได้ไปสู่นักกีฬา ส่วนใหญ่ก็จะมาจากการให้ความสนับสนุนของสปอน์เซอร์เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการให้ความสนับสนุนส่วนตัวต่อนักกีฬาที่มีความโดดเด่นด้วย และในทางกลับกัน การแข่งขันกีฬา และตัวตนของนักกีฬา ก็นำพาความนิยมไปสู่สินค้าที่ให้ความสนับสนุนเช่นกัน ดังนั้น เมื่อความสมประโยชน์ไม่ได้เกิดขึ้นในรูปแบบที่เคยเป็นมาเสียแล้ว จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า พัฒนาการต่อจากนี้ของสปอนเซอร์ผู้จัดการแข่งขัน และนักกีฬา จะออกมาในรูปแบบใด รวมไปถึงการปรับสมดุลระหว่างธุรกิจ และสังคมให้มาบรรจบกันได้มากแค่ไหน หลังจากที่ก่อนหน้านี้การแข่งขันกีฬาในหลายประเภท โดยเฉพาะฟุตบอล รถแข่ง บาสเกตบอล ชกมวย อเมริกันฟุตบอล ได้กลายเป็นธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบไปเสียแล้ว โดยที่ผลลัพธ์ทางสุขภาพกลายเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น ที่น่ากังวล คือ ธุรกิจกีฬาอย่างเต็มรูปแบบนี้ ได้เชื่อมโยงไปถึงอำนาจในการสร้างความนิยมในรูปแบบต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งเกมกีฬา หรือนักกีฬา ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์มวลชนซึ่งเปรียบได้กับดาบสองคม ที่ขึ้นอยู่กับว่าแคมเปญที่ได้มาจะไปกระตุ้นหรือปลุกเร้าในเรื่องใด และเพื่อใคร หรืออะไรกันแน่

ในปัจจุบันถ้าชมกีฬาประเภททีมตามโปรแกรมแข่งระดับโลก เราก็จะเห็นการแสดงสัญลักษ์จากนักกีฬาเพื่อสื่อสารข้อความที่ต้องการไปยังผู้ชม อย่างล่าสุดก็เป็นแคมเปญนั่งคุกเข่าของ BLM หรือ Black lives Matter ที่มาจากความรู้สึกไม่เป็นธรรมของ“โคลิน เคเปอร์นิค” นักอเมริกันฟุตบอลในระดับสโมสรใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งปฏิเสธการยืนเคารพธงชาติอเมริกาในขณะที่คนทั้งสนามแข่งขันยืนและร้องเพลงอย่างพร้อมเพรียง

“ผมไม่สามารถเคารพธงชาติ ด้วยความภาคภูมิใจได้อีกต่อไป เมื่อมีการกีดกันคนผิวดำเกิดขึ้นในประเทศนี้เรื่องนี้มันยิ่งใหญ่เกินกว่าอเมริกันฟุตบอล และมันคงเป็นความเห็นแก่ตัวถ้าผมไม่แสดงออกอะไร ในขณะที่คนสีผิวเดียวกันนอนเป็นศพอยู่ข้างถนนอย่างไม่เป็นธรรม”

การกระทำของเคเปอร์นิคได้รับการต่อต้านจากสังคมอเมริกันเป็นอย่างมาก แม้ว่าจะมีนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลบางคนเริ่มทำตามบ้าง แต่เคเปอร์นิคก็เสียงานในเวลาต่อมาสูญเสียการสนับสนุนจากสปอนเซอร์และถูกกีดกันออกจากวงการกีฬาอเมริกันฟุตบอล จนไม่มีทีมไหนรับเข้าทำงานอีกต่อไป เพราะการกระทำของเคเปอร์นิคถูกตีความว่า“ไม่รักชาติ” โดยเฉพาะการกดดันจาก “โดนัล ทรัมป์” อดีตประธานาธิบดีในตอนนั้น ต่อวงการอเมริกันฟุตบอลทั้งระบบ

กระนั้น แบรนด์กีฬายี่ห้อดังNIKE ก็ได้ชุบชีวิตโคลิน เคเปอร์นิคขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการเชิญเขามาเป็นพรีเซ็นเตอร์วาระครบรอบ 30 ปีในสโลแกน Just do it ที่ได้รับการขยายความในเชิงสนับสนุนในสิ่งที่เขาทำ แม้จะยังมีความไม่ชัดเจนของสังคม ด้วยวลีโดนใจที่ว่า “การเชื่อมั่นในบางสิ่ง แม้จะต้องเสียสละทุกสิ่ง”และนั่นจึงเป็นที่มาของรายได้อันเพิ่มขึ้นของ NIKE เมื่อความสนับสนุนต่อเคเปอร์นิค ส่งผลต่อสินค้าของแบรนด์ หลังองค์กรภาคเอกชนระดับโลก สื่อสารเรื่องราวนี้ออกไปเพื่อรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมต่อเชื้อชาติ และนักกีฬาหลายประเภททั่วโลก ตกลงแสดงออกในแบบเดียวกันกับโคลิน เคเปอร์นิค โดยไม่สนการลงโทษจากผู้จัดการแข่งขัน(ซึ่งก็ไม่มีการลงโทษเกิดขึ้นแต่อย่างใด)และปัจจุบัน การคุกเข่าลงกับพื้นของนักกีฬาก่อนการแข่งขัน ได้กลายเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญในการสร้างความเท่าเทียมในเรื่องสีผิว ทั้งในกลุ่มคนแบบปกติทั่วไป และในกรณีของกลุ่มสุดโต่งไปเสียแล้ว (นิยมความรุนแรงโต้ตอบ)

นี่เป็นแค่ตัวอย่างอิทธิพลที่เกิดขึ้นจากวงการกีฬาแค่เพียงส่วนเดียวเท่านั้น แม้แรงสะท้อนของตัวอย่างที่นำมาจะอยู่ในขั้นน่าตกใจก็ตาม ซึ่งต้องบอกก่อนว่า ยังมีอีกหลายแรงสะท้อนในกระแสทางอำนาจ และการเมืองของโลกใบนี้ที่วงการกีฬาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างขึ้นมา ก็อย่างที่ว่า เหรียญมีสองด้าน และดาบก็มีสองคม ในมุมที่เป็นคุณก็ควรชื่นชม แต่ในด้านที่เป็นลบอันอาจจะเกิดขึ้น (หรือเกิดขึ้นแล้วโดยที่เราไม่รู้) โดยส่วนตัวคิดว่า ไม่ควรเป็นแค่การเฝ้าดู แต่ควรต้องรับรู้ และจำเป็นต้องเท่าทัน

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( คอลัมน์ผู้หญิง - อิทธิพลของวงการกีฬา - หนังสือพิมพ์แนวหน้า )
https://ift.tt/3iTARal
กีฬา

Bagikan Berita Ini

0 Response to "คอลัมน์ผู้หญิง - อิทธิพลของวงการกีฬา - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"

Post a Comment

Powered by Blogger.