กีฬาชักเย่อ นับเป็นหนึ่งในกีฬาที่คนทั่วโลกรู้จัก และอาจเคยมีโอกาสได้เล่นมาบ้างอย่างน้อยสักครั้งในชีวิต ตามงานกีฬาสีโรงเรียน, งานรับน้อง, กิจกรรมละลายพฤติกรรม หรือเชื่อมความสัมพันธ์ภายในหมู่บ้าน
ด้วยความเป็นกีฬาที่มีกฎ กติกา เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน โดยคอนเซ็ปต์หลักก็คือ "ทีมไหนดึงคู่ต่อสู้เข้ามาใกล้แดนตัวเองมากกว่า ทีมนั้นเป็นฝ่ายชนะ" ทำให้มีการเล่นกันอย่างกว้างขวางในหลายประเทศทั่วโลก ยาวนานนับร้อย นับพันปี
แม้เราจะคุ้นเคยกับความเป็นกิจกรรมสันทนาการ สร้างความสนุก มากกว่าการแข่งขันที่เน้นผลแพ้-ชนะ แต่กีฬาชักเย่อ ก็มีการแข่งชิงแชมป์ทวีป และชิงแชมป์โลก ยิ่งถ้าย้อนกลับไปในอดีต มันถึงขนาดเคยบรรจุไว้ในมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติอย่าง "โอลิมปิก" เสียด้วยซ้ำ
ชักเย่อ เคยอยู่ในกีฬา โอลิมปิก ช่วงระหว่างปี 1900-1920 แต่หลังจากนั้นตลอดระยะเวลา 100 ปี ก็ไม่ปรากฏกีฬานี้ในมหกรรมห้าห่วงอีกเลย เป็นเพราะเหตุใด มาค้นหาคำตอบร่วมกันกับ Main Stand
สืบย้อนถึงสมัยก่อนคริสตกาล
ชักเย่อ ถือเป็นกีฬาเก่าแก่ที่เล่นกันมาอย่างช้านานกว่า 2,000 ปี และมีหลักฐานปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ของหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น อียิปต์ , ญี่ปุ่น , เกาหลี, อินเดีย , ฮาวาย , อเมริกาใต้ และ จีน โดยพบการบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ราวศตวรรษที่ 8-5 ก่อนคริสตกาล โดยเป็นการใช้ในการฝึกทหาร เช่นเดียวกับกรีกโบราณ ที่นิยมเล่นเพื่อเสริมสร้างพละกำลังในการรบยามต้องใส่ชุดเกราะเต็มยศ
ช่วงราว 500 ปีก่อนคริสตกาล ชักเย่อ ได้กลายเป็นกีฬาที่ใช้แข่งขัน และยังเป็นการออกกำลังกายสำหรับฝึกซ้อมนักกีฬาประเภทอื่น ๆ แม้จะยังไม่ถูกบรรจุในกีฬาโอลิมปิกสมัยโบราณ แต่ก็เป็นที่แพร่หลายในหลายประเทศ แม้จะมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ต่างกันบ้างก็ตาม
ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา ก็มีการละเล่นชักเย่ออยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ ในพิธีฌาปนกิจศพพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงพิธีขอฝนในอาณาจักรพุกาม ระหว่างปี ค.ศ. 849–1297 และในประเทศญี่ปุ่นก็มีการแข่งขันชักเย่อเชือกยักษ์คาริวาโนะ ที่เมืองไดเซน จังหวัดอาคิตะ ซึ่งสืบทอดกันมากว่า 500 ปี นอกจากนี้ยังมีเทศกาลชักเย่อใต้น้ำ ในเมืองมิฮามะ จังหวัดฟุคุอิที่มีมายาวนานเกือบ 400 ปี
และในช่วงคริสตศักราช 1000 ได้มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ว่า ชักเย่อ เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมกีฬาที่แข่งขันระหว่างบรรดานักรบในแถบยุโรปตะวันออกที่เรียกว่า "kräftige spiele" (เกมแห่งความแข็งแกร่ง) นอกจากนี้ในศตวรรษที่ 15 ชักเย่อก็เป็นกีฬายอดนิยมในฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร ที่มีการจัดแข่งขันหลายทัวร์นาเมนต์
โอลิมปิกสมัยใหม่
แม้จะมีการเปลี่ยนผ่านจากโอลิมปิกยุคโบราณ มาเป็นโมเดิร์นโอลิมปิกเมื่อปี 1896 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ แต่ ชักเย่อ ก็ยังไม่ถูกบรรจุเข้าเป็น 1 ใน 9 ประเภทกีฬาที่ใช้ในครั้งปฐมฤกษ์ ซึ่งกีฬาที่ถูกบรรจุไว้ประกอบด้วย กรีฑา, จักรยาน, ฟันดาบ, ยิมนาสติก, ยิงปืน, ว่ายน้ำ, เทนนิส, ยกน้ำหนัก และ มวยปล้ำ โดยมีการชิงชัยทั้งหมด 43 รายการ
จนกระทั่งครั้งที่ 2 ในอีก 4 ปีต่อมา ที่ประเทศฝรั่งเศส ถึงได้เพิ่ม ชักเย่อ ซึ่งเป็นกีฬายอดนิยมของเจ้าภาพในตอนนั้นเข้าไปด้วย โดยโอลิมปิกที่กรุงปารีสได้มีการเพิ่มกีฬาเป็น 19 ชนิดกีฬา แข่งขันกัน 95 รายการ แต่ถึงอย่างนั้น กลับมีทีมเข้าร่วมเพียง 2 ทีม
Photo :commons.wikimedia.org
ในยุคแรกเริ่ม โอลิมปิก ยังเป็นการแข่งขันระดับสมัครเล่น ยังไม่มีการแบ่งรุ่นตามน้ำหนัก เช่นเดียวกับการจัดการที่ยังไม่เป็นระบบระเบียบนัก ทำให้ สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำท่าจะส่งทีมร่วมแข่งขันในตอนแรก มีอันต้องถอนตัวในภายหลัง เพราะนักกีฬา 3 คนในทีมมีคิวต้องแข่งขว้างค้อนในเวลาเดียวกัน
จึงต้องมีการรวมทีมเฉพาะกิจ ระหว่างตัวแทนทีมชาติสวีเดนกับเดนมาร์กชาติละ 3 คน (ซึ่งฝั่งเดนมาร์กถึงขนาดดึงนักข่าวชาติตัวเองผู้ไปเกาะติดโอลิมปิกในตอนนั้นอย่าง เอ็ดการ์ อาบาย เข้ามาอยู่ในทีมด้วย เนื่องจากมีผู้เล่นบาดเจ็บกะทันหัน จึงต้องส่งชื่อไปแทนในนาทีสุดท้าย โดย อาบาย เคยเป็นนักว่ายน้ำ, พายเรือ และจักรยานมาก่อน) แข่งกับเจ้าภาพ ฝรั่งเศส ที่เอาผู้เล่นจากสโมสรกีฬา ราซิ่ง คลับ เดอ ฟรองซ์ มาเป็นตัวแทนประเทศ การแข่งขันเป็นแบบ 2 ใน 3 และเป็นทีมสแกนดิเนเวียที่มีผู้เล่นที่แข็งแกร่งกว่า เอาชนะ ฝรั่งเศส ไปได้ 2-0 เกม
เจ้าภาพจองเหรียญและทีมตำรวจ
โอลิมปิก ยุคแรก ๆ เหมือนเป็นการลองผิดลองถูก และยังไม่มีความเป็นมืออาชีพ ทำให้ ชักเย่อ เป็นหนึ่งในหลายประเภทกีฬาที่เพิ่มโอกาสให้เจ้าภาพมีลุ้นเหรียญเพิ่ม
จากช่องโหว่จากกติกาที่วางไว้หลวม ๆ ว่าสามารถฟอร์มทีมขึ้นมาลงแข่งขันเป็นตัวแทนประเทศ ทำให้ใน โอลิมปิก 1904 ที่สหรัฐอเมริกา มีทีมเจ้าภาพถึง 4 จาก 6 ทีมลงแข่งขันในชื่อของ มิลวอกี้ แอธเลติก คลับ, เซาธ์เวสต์ เทิร์นเวเรน ออฟ เซนต์ หลุยส์ No. 1, เซาธ์เวสต์ เทิร์นเวเรน ออฟ เซนต์ หลุยส์ No. 2 และ นิวยอร์ค แอธเลติก คลับ ส่วนที่เหลือเป็น กรีซ และ แอฟริกาใต้ อย่างละ 1 ทีม
Photo :commons.wikimedia.org
แน่นอนว่าทีมจากสหรัฐอเมริกาครองทั้ง เหรียญทอง เหรียญเงิน และ เหรียญทองแดง ก่อนจะจบทัวร์นาเมนต์ด้วยการคว้าไปทั้งสิ้น 234 เหรียญ ขึ้นแท่นเป็นเจ้าแห่ง โอลิมปิก ในคราวนั้น ทิ้ง เยอรมนี อันดับ 2 ที่ได้เหรียญรวมแล้วเพียง 13 เหรียญ แบบไม่เห็นฝุ่น
อีก 4 ปีต่อมา ที่สหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ ครั้งนี้มีการจำกัดจำนวนทีมที่เข้าร่วมของแต่ละชาติให้ส่งได้ไม่เกิน 3 ทีม ซึ่งทีม เกรท บริเตน ได้ส่ง 3 ทีมตำรวจเข้าแข่งทั้ง ซิตี้ ออฟ ลอนดอน โปลิศ , ลิเวอร์พูล โปลิศ และ เมโทรโพลิแทน โปลิศ "เค" ดิวิชั่น แซม ๆ ด้วย สวีเดน และ สหรัฐอเมริกา แต่สุดท้ายก็เป็นเจ้าภาพที่เหมาทุกเหรียญในกีฬาประเภทนี้ ก่อนลงเอยด้วยการเป็นเจ้าเหรียญทองเช่นกัน
ขณะที่ โอลิมปิก 1912 ก็เป็นเจ้าภาพ สวีเดน ในนามของทีมตำรวจ สตอกโฮล์ม โปลิศ ซิวเหรียญทองไปครอง หลังจากชนะแชมป์เก่า สหราชอาณาจักร ที่ยังคงใช้ตำรวจลงแข่งขัน ซึ่งโอลิมปิกหนนั้น สวีเดน ขาดไปเพียงเหรียญทองเดียวก็จะทำได้เท่า สหรัฐอเมริกา ที่เป็นเจ้าเหรียญทอง ก่อนที่ โอลิมปิก จะหายไป 8 ปี เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี ค.ศ. 1914-1918
โอลิมปิก กลับมาจัดอีกครั้งในปี 1920 ที่มี เบลเยียม เป็นเจ้าภาพ ก็เป็นทีมเจ้าภาพที่ได้เหรียญทองแดงไป ส่วนเหรียญทองเป็นของ สหราชอาณาจักร และเหรียญเงินเป็นของ เนเธอร์แลนด์ หลังจากนั้น ชักเย่อ และกีฬาอีก 33 ชนิด ก็ถูกหั่นออกไปจาก โอลิมปิก เนื่องจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) มองว่ามีจำนวนชนิดกีฬามากเกินไป
สาเหตุหนึ่งที่ ชักเย่อ ถูกถอดออกจาก โอลิมปิก เชื่อกันว่า เป็นเพราะเกิดปัญหาหลายอย่างในการแข่งขัน อย่างเช่นในปี 1908 ที่ทีม ลิเวอร์พูล โปลิศ เจอกับ สหรัฐอเมริกา ทีมตำรวจลิเวอร์พูลใส่รองเท้าคอมแบตลงแข่ง ซึ่งตามกฎระบุว่าห้ามสวมรองเท้าที่มีปุ่ม และฝั่งอเมริกาก็ได้ประท้วงแต่ไม่เป็นผล เนื่องจาก ลิเวอร์พูล โปลิส ยืนยันว่าเป็นเครื่องแบบของพวกเขา ทำให้ผู้เล่นสหรัฐฯ หัวเสียอย่างมากจนต้องวอล์กเอาต์
Photo : mentalfloss.com
พอลล่า นิโคลส์ บรรณาธิการอาวุโส ผู้จัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของโอลิมปิกให้กับคณะกรรมการโอลิมปิกของแคนาดา ให้ความเห็นว่า "การที่ ชักเย่อ ถูกตัดออกจากโปรแกรมโอลิมปิก หลังจากปี 1920 ที่อันตเวิร์ปนั้น เป็นไปได้ว่าเนื่องจากมีประเด็นปัญหาเยอะ อย่างที่ลอนดอน ปี 1908 ทีมอเมริกาประท้วงว่าทีมตำรวจลิเวอร์พูลใส่รองเท้าตำรวจมาแข่งขันซึ่งถือว่าผิดกฎ แม้ว่าทีมตำรวจลิเวอร์พูลขอแข่งใหม่โดยไม่สวมรองเท้า แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากทีมอเมริกาที่ถอนทีมไป เพราะนักกีฬาในทีมชักเย่อของอเมริกาก็ลงแข่งในกีฬาประเภทอื่นด้วย"
และด้วยความที่นักกีฬาบางคนต้องลงแข่งมากกว่า 1 ประเภท ทำให้ตลอด 5 ครั้งที่ผ่านมา มีการถอนทีมให้เห็นอยู่เป็นประจำอย่าง สหรัฐอเมริกา ปี 1900, เยอรมนี กับ กรีซ ปี 1908, สหราชอาณาจักร, ออสเตรีย, โบฮีเมีย (สาธารณรัฐเช็กปัจจุบัน) และ ลักเซมเบิร์ก ปี 1912 มีแค่ปี 1904 และ 1920 เท่านั้นที่ไม่มีการถอนตัว
ขอคืน … เอาไปเริ่มใหม่
การถูกถอดออกจากมหกรรม โอลิมปิก ทำให้ที่ทางของกีฬาชักเย่อบนเวทีระดับนานาชาติหายไปในพริบตา
แต่อีกนัยหนึ่ง ก็เป็นตัวขับเคลื่อนให้แต่ละชาติ ก่อตั้งสมาคมชักเย่อเป็นของตัวเอง เพื่อให้การแข่งขันระดับชาติยังสามารถรันต่อไปได้ โดยเริ่มจากสวีเดนที่ก่อตั้งเป็นชาติแรกเมื่อปี 1933 จากนั้นก็เป็นอังกฤษในปี 1958 ตามมาด้วยชาติในสหราชอาณาจักรด้วยกันอย่าง สกอตแลนด์, เวลส์ และ ไอร์แลนด์เหนือ
Photo : tugofwar-twif.org
ก่อนที่ จอร์จ ฮัตตัน จากสมาคมชักเย่ออังกฤษจะจับมือกับตัวแทนของสวีเดน ก่อตั้ง สหพันธ์ชักเย่อนานาชาติ (TWIF) ขึ้นในปี 1960 เพื่อผลักดันให้มีการแข่งขันในระดับนานาชาติเป็นของตัวเอง โดยรายการระดับนานาชาติครั้งแรกที่จัดในนาม TWIF เกิดขึ้นเมื่อปี 1965 เป็นรายการชิงแชมป์ยุโรป จนกระทั่งปี 1975 เมื่อประเทศต่าง ๆ จากนอกยุโรป เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ TWIF จึงได้เกิด ชักเย่อชิงแชมป์โลก ขึ้นเป็นครั้งแรก ที่เนเธอร์แลนด์ ซึ่งจะจัดทุก 2 ปี และยังมีรายการชิงแชมป์ทวีปอีกด้วย
แม้ว่าเมื่อ 100 ปีก่อน กีฬาชักเย่อ ได้พัฒนาจากเกมพื้นบ้าน, ใช้ตำรวจ, ยืมตัวนักข่าวมาเล่นในโอลิมปิก แต่ในวันนี้ TWIF ก็สามารถทำให้มันมีมาตรฐาน มีการแบ่งรุ่นน้ำหนัก มีทั้งทีมชาย-หญิง เช่นเดียวกับรุ่นเยาวชน (15-18 ปี) และรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี และยังมีแบบผสมชายหญิง 4-4
ในปัจจุบัน สหพันธ์ชักเย่อนานาชาติ มีสมาชิกกว่า 70 ชาติทั่วโลก รวมถึงไทย และยังได้รับการยอมรับจาก คณะกรรมการโอลิมปิกสากล นั่นหมายความว่า กีฬาชักเย่อ ยังมีโอกาสที่จะถูกบรรจุใน โอลิมปิก อีกครั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับมติของ IOC และชาติเจ้าภาพในการบรรจุกีฬาแต่ละประเภทเข้าร่วมแข่งขัน เหมือนอย่างการกลับมาของ กอล์ฟ ในโอลิมปิก 2016 และ 2020 หลังจากห่างหายไปถึง 112 ปี
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2011 TWIF ได้เริ่มต้นพูดคุยกับ IOC ถึงความเป็นไปได้ที่จะกลับไปอยู่ในกีฬา โอลิมปิก อีกครั้ง ขณะที่ IOC ก็เคยเสนอแนะว่าควรเพิ่มศักยภาพในการหารายได้และเพิ่มจำนวนชาติสมาชิก
แต่อย่างเร็วที่สุดเราจะยังไม่ได้เห็น ชักเย่อ ในโอลิมปิกที่ฝรั่งเศสในอีก 3 ปีข้างหน้า เพราะได้มีการกำหนดประเภทกีฬาไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะยังไม่ได้กลับมาในปี 2028 เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีแผนที่จะเลือก คริกเกต, ซอฟต์บอล, เบสบอล และ แฟลกฟุตบอล มาเป็นกีฬาสำหรับแข่งขันที่แอลเอ
ด้วยบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป จากการแข่งขันของนักกีฬาสมัครเล่น สู่ศูนย์รวมนักกีฬาชั้นยอดจากทุกสารทิศ วันนี้มูลค่าทางการตลาดของ โอลิมปิก ไปไกลกว่าเมื่อร้อยปีก่อน และกำลังปรับโฉมไปเรื่อย ๆ ให้เข้ากับยุคสมัย รวมถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนเจเนอเรชั่นใหม่ ๆ มากขึ้น
นั่นจึงเป็นคำถามว่า โอลิมปิก จะมีที่ว่างสำหรับ ชักเย่อ หรือไม่ ? เมื่อไรที่เส้นขนานระหว่าง ชักเย่อ กับ โอลิมปิก จะมาบรรจบกัน หรือมันจะยิ่งถ่างออกไปทุกที ๆ ?
อ่านบทความและอื่น ๆ ( “ชักเย่อ” เคยเป็นกีฬาที่มีแข่งในโอลิมปิกเมื่อ 100 ปีก่อน… แล้วทำไมจึงหายไป ? - Sanook )https://ift.tt/3AexMXU
กีฬา
Bagikan Berita Ini
0 Response to "“ชักเย่อ” เคยเป็นกีฬาที่มีแข่งในโอลิมปิกเมื่อ 100 ปีก่อน… แล้วทำไมจึงหายไป ? - Sanook"
Post a Comment