Search

กีฬา การเมือง เสรีภาพ อิสราเอลและปาเลสไตน์ในสนามฟุตบอล - ไทยรัฐ

สำหรับคนจำนวนไม่น้อย ‘การเมือง’ เป็นเรื่องยากจะทำความเข้าใจ หรือถูกมองว่าไกลตัว แต่บางครั้งกลับอยู่ใกล้มากกว่าที่คิด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและปรากฏให้เห็นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันก็คือ ในบริบทการกีฬา ไม่ต่างจากแวดวงอื่นๆ ที่มักมีแง่มุมทางการเมืองสอดแทรกเข้ามาให้เห็นกันบ่อยครั้ง

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งและการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่ปะทุขึ้นอย่างดุเดือดอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2021 การเมืองในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่มีแง่มุมสลับซับซ้อนหลากหลายมิติเป็นที่ถกเถียงในวงกว้าง

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการพูดถึงการเมืองในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ปะทุกลายเป็นการปะทะกันครั้งล่าสุดปรากฏขึ้นในพื้นที่ของ ‘บุคคลสาธารณะ’ หลายแวดวง ตั้งแต่วงการบันเทิงที่นักแสดงอดีตนางงามอิสราเอลโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ ไปจนถึงการแสดงออกของบุคคลจากโลกกีฬามหาชนอย่างฟุตบอล

ฮัมซา ชาวฮ์ดรี และ เวสลีย์ โฟฟานา ชูธงปาเลสไตน์หลังคว้าแชมป์เอฟเอคัพอังกฤษเมื่อวันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม เช่นเดียวกับบรรดานักฟุตบอลมุสลิมที่ออกโรงปกป้องปาเลสไตน์ผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้ง โมฮาเหม็ด ซาลาห์ และ ซาดิโอ มาเน

อีกซีกโลกหนึ่ง วันเดียวกัน นักเตะที่แสดงพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับกรณีอิสราเอลกับปาเลสไตน์ คือ โทเมอร์ เฮเหม็ด (Tomer Hemed) จากสโมสร เวลลิงตัน ฟีนิกซ์ ทีมนิวซีแลนด์หนึ่งเดียวที่เล่นอยู่ในเอลีกของออสเตรเลีย หัวหอกดีกรีอดีตทีมชาติอิสราเอลรายนี้ฉลองการทำประตูในเกมกับ เมลเบิร์น ซิตี้ ด้วยการวิ่งไปหากลุ่มแฟนบอลชาวยิว และนำธงชาติอิสราเอลมาคลุม

เมื่อทำประตูที่ 2 ก็หยิบหมวกคิปปาห์ (kippah) ของชาวยิว มาสวมบนศีรษะ มือข้างขวาปิดหน้า ข้างซ้ายชูขึ้นฟ้า

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เฮเหม็ดแสดงออกถึงความเป็นชาวอิสราเอล เพราะหลายครั้งที่ทำประตูได้เขาก็วิ่งไปฉลองกับแฟนบอลซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนชาวยิว เพียงแต่บริบทความแตกต่างอยู่ที่ความอ่อนไหวของปัจจุบันคือภาวะใกล้เคียง ‘สงคราม’

แน่นอนว่าในสังคมที่เปิดกว้างทางเสรีภาพ การเลือกกระทำสิ่งต่างๆ หรือไม่กระทำ ล้วนเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่การกระทำเหล่านี้ย่อมมีผลตามมาหากเป็นสิ่งที่ละเมิดกติกา กฎระเบียบ มาตรฐานทางสังคม ไปจนถึงตัวบทกฎหมายของประเทศ เบื้องต้น แข้งดีกรีทีมชาติรายนี้โดนใบเหลืองในสนาม เนื่องจากฝ่าฝืนระเบียบห้ามนำสิ่งของใดๆ มาคลุมใบหน้าหรือศีรษะ

พฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์ของนักเตะจากอิสราเอลรายนี้ไม่ใช่การแสดงออกทางการเมืองครั้งแรกในสนามแข่ง รอบหลายทศวรรษที่ผ่านมานี้ นักกีฬาตั้งแต่ระดับโลกเรียงมาจนถึงภูมิภาคและท้องถิ่นจำนวนนับไม่ถ้วนล้วนเคยแสดงออกทั้งในพื้นที่แข่งและนอกสนาม ด้วยลักษณะบุคคลที่ถูกจับตาจากสาธารณชนอยู่แล้ว และในพื้นที่ซึ่งมีผู้ชมจำนวนมาก พวกเขาจึงใช้โอกาสและพื้นที่มาแสดงออก

การกระทำของพวกเขาขณะอยู่ในบริบทแข่งกีฬา จึงมักนำมาสู่คำถามคลาสสิกว่า การแสดงออกทางการเมืองในเกมกีฬา (ที่ผู้ชมส่วนใหญ่มีจุดประสงค์หลักคือเสพอรรถรสจากการแข่งขัน) เป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่ กีฬาควรถูกแยกออกจากการเมืองหรือเปล่า หรือมันสามารถรวมกันได้สำหรับคนที่เชื่อว่า “การเมืองอยู่ใกล้ตัว” ?

การเมืองในกีฬา

ลองสำรวจจากภาพกว้างก่อน ท่าทีองค์กรใหญ่ซึ่งควบคุมดูแลการแข่งกีฬามหาชนจนถึงมหกรรมระดับโลก ฟีฟ่าเคยออกระเบียบห้ามนักเตะแสดงข้อความใดๆ บนเสื้อ (แน่นอนว่ารวมถึงข้อความการเมือง)

ล่าสุดคือกรณีคณะกรรมการโอลิมปิกสากลยืนยันว่า การแสดงออกทางการเมือง ศาสนา หรือเชื้อชาติ (สีผิว) ในสนาม หรือพื้นที่ซึ่งเกี่ยวกับการแข่งโอลิมปิกที่โตเกียวในปี 2021 ถือเป็นพฤติกรรมผิดกฎ

คณะกรรมการฯอ้างผลสำรวจที่ว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของนักกีฬากลุ่มตัวอย่างมองว่าการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์หรือการแสดงออกถึงความคิดส่วนตัวด้านต่างๆ ในที่แข่งและพิธีเปิดเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ส่วนการแสดงออกบนโพเดียม นักกีฬากลุ่มตัวอย่าง 67 เปอร์เซ็นต์ก็บอกว่าไม่เหมาะสมเช่นกัน

หากลองย้อนกลับไปดูเส้นทางที่ผ่านมา ‘กีฬา’ เป็นหนึ่งในเครื่องมือทาง ‘การเมือง’ มาโดยตลอด ไม่ว่าด้วยเจตนาต้นทางเพื่อส่วนรวมหรือส่วนตัวบุคคลก็ตาม

หากมองผลลัพธ์ด้านบวก ฝ่ายบริหารหรือหน่วยงานการปกครองใช้กีฬาเป็นสื่อกลางเพื่อเป้าหมายหลอมรวมความแตกต่างทางสังคมให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เนลสัน แมนเดลา ใช้กีฬารักบี้เป็นสะพานเชื่อมความแตกต่างเมื่อผู้คนมุ่งเป้าไปที่สิ่งเดียวกัน ในขณะเดียวกันก็สามารถลดความตึงเครียดระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมที่ปะทะกัน

ความหลากหลายในสนาม อิสราเอล-ปาเลสไตน์

ในโลกกีฬา หากทีมประสบความสำเร็จ ผู้คนที่เดิมมีพื้นเพแตกต่างจะสามารถหาจุดร่วมระหว่างกันได้ รู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันได้

บทความจากผู้ศึกษาเรื่องกีฬาฟุตบอลในอิสราเอล โดย ไซมอน เบนุค (Szymon Beniuk) เมื่อปี 2018 ชี้ชัดว่า ผู้เล่นในสโมสรต่างๆ ในอิสราเอลมีความหลากหลาย ผสมผสานกันทั้งชาวยิวและอาหรับ หรือแม้แต่นักฟุตบอลอาหรับ-ปาเลสไตน์ บางรายก็เคยเล่นให้ทีมชาติอิสราเอลชุดเล็กมาก่อน เช่น โมฮัมเหม็ด คาลิบัต (Mohammed Kalibat) และ อาเหม็ด อาเบด (Ahmed Abed)

ผู้ศึกษายังพบโปรแกรมฟุตบอลพิเศษในอิสราเอลเพื่อช่วยหลอมรวมระหว่างชาวอาหรับและยิวโดยมีฟุตบอลเป็นหนึ่งในสื่อกลาง มีโปรแกรมที่นำเยาวชนยิว, ปาเลสไตน์ และจอร์แดน จากพื้นที่ใกล้เคียงกันมาร่วมเล่นฟุตบอล แต่ในภาพกว้างกว่านั้นต้องยอมรับความจริงว่า ในบางสโมสรที่ผ่านมายังพบการแบ่งแยกระหว่างชาวยิวกับอาหรับอยู่บ้าง

หากมองในแง่เจตนาเพื่อส่วนตัว นายพลฟรังโก ในสเปน ก็ใช้สโมสรใหญ่เป็นเครื่องมือโฆษณาประชาสัมพันธ์แนวคิด นโยบาย และอุดมการณ์ของคณะผู้ปกครองบริหารประเทศ หรือกลุ่มทางการเมืองอย่างคอมมิวนิสต์ในประเทศอื่นๆ ก็สนใจฟุตบอลเช่นกัน

ในทางกลับกัน หากแฟนบอลหรือนักกีฬามาใช้พื้นที่แข่งแสดงออกบางอย่างบ้าง อาจต้องถามกลับว่า “ทำไมพวกเขาเลือกทำเช่นนั้น” การแสดงออกในพื้นที่อื่นแตกต่างกันอย่างไร หรือว่าเสียงของพวกเขาไม่ได้รับความสนใจมากพอ จนต้องมาแสดงออกในพื้นที่ที่สามารถกระจายสารของพวกเขาไปไกลกว่านั้น หรือเป็นเพราะเหตุใด

ไม่ใช่แค่นักฟุตบอลอิสราเอลที่แสดงออกในกรณีล่าสุด สำหรับแฟนบอลปาเลสไตน์เองก็เคยใช้ฟุตบอลเป็นสื่อกลางเพื่อสื่อสารถึงความกังวลเกี่ยวกับท่าทีของอิสราเอลมาแล้วเช่นกัน และตลอดหลายทศวรรษมานี้ มีเหตุการณ์มากมายที่กีฬาเป็นช่องทางสื่อสาร ทั้งเพื่อส่วนรวมและส่วนตัวมากมายจนไล่เรียงได้โดยไม่จบไม่สิ้น

หลักฐานที่ชัดเจนเหล่านี้บ่งชี้ว่า ควรแยกการเมืองจากกีฬาหรือไม่? ในความเป็นจริงแล้วยากมากที่จะแยกกีฬาออกจากการเมือง ถึงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการไปเกี่ยวด้วย สุดท้ายแล้ว ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากกีฬาไม่แตะต้องการเมือง การเมืองก็จะลากกีฬาเข้าไปใช้อยู่ดี

หากน้ำทำให้เรือลอยได้ เรือก็จมเพราะน้ำได้เช่นกัน ท้ายที่สุดแล้ว หากไม่สามารถแยกการเมืองออกจากกีฬาแล้ว มุมมองเรื่องเสรีภาพทางการแสดงออกทางความคิด (แบบสุจริต) จึงถูกฝ่ายเสรีนิยมหยิบยกมาคัดง้างกับแนวทางของผู้มีอำนาจวางระเบียบเสมอ

จำกัดการแสดงออก หรือกำจัดเสรีภาพ

ประเด็นสำคัญคือ ที่ผ่านมา ฟากกีฬา ซึ่งกระโจนไปแตะการเมือง แทบไม่เคยสัมผัสประเด็นละเอียดอ่อนระหว่างประเทศในช่วงบรรยากาศคุกรุ่นที่ใกล้เคียงสงครามมากขนาดนี้ หากจะมองว่า การแสดงออกของแต่ละฝ่ายเข้าข่าย ‘ยั่วยุ’ มากกว่า ‘สื่อสาร’ เพื่อนำไปสู่ทางออกร่วมกัน คำถามที่น่าถามกลับไปคือ แง่นี้อาจต้องใช้วิธี ‘จำกัด’ มากกว่า ‘กำจัด’ หรือไม่

วิธีแบบ ‘กำจัด’ ด้วยการห้ามและวางบทลงโทษในอดีตล้วนมีบทเรียนมาแล้วว่าปิดกั้นได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ลงโทษยิ่งหนัก ข่าวที่รายงานออกไปกลับยิ่งกระพือให้คนสนใจไปเสียอีก

แนวที่เหลือคือตัดไฟแต่ต้นลม คำถามคือ ใครจะมีศักยภาพพอตรวจจับหรือป้องกันผู้ประสงค์จะแสดงออกแบบการันตีว่าไม่มีทางหลุดรอดไปได้ แม้แต่โค้ชของสโมสร เวลลิงตัน ฟีนิกซ์ ยังให้สัมภาษณ์ว่า ท้ายที่สุดแล้ว ตัวเขาเองยังไม่สามารถควบคุมลูกทีมที่มีสถานะเป็นลูกน้องในสายงานให้ทำหรือไม่ทำอะไรเมื่อลงสนามไปแล้ว

ส่วนวิธีแบบ ‘จำกัด’ มีข้อสังเกตกันว่า เป็นไปได้ไหมที่ฝ่ายดูแลการแข่งจะยอมรับเสรีภาพในการแสดงออกผ่านพื้นที่เฉพาะ โดยกำหนดพื้นที่ให้สำหรับนักกีฬาหรือแฟนกีฬาที่อยากใช้โอกาสและพื้นที่ในโลกกีฬามาพูดถึงเรื่องทางการเมือง เพื่อให้แต่ละฝ่ายได้มาแสดงออกกันอย่างเท่าเทียม แฟนกีฬากลุ่มที่ต้องการชมกีฬา ไม่ต้องการชมแง่มุมนี้ก็เลือกได้ว่าจะไม่ติดตาม

ส่วนผู้ต้องการติดตามแง่มุมนี้ในบริบททางการกีฬา ก็สามารถติดตามทุกฝ่ายที่ต้องการสื่อสารแบบเท่าเทียมไปพร้อมกันโดยมีผู้ควบคุมดูแลตรวจสอบคอยดำเนินการตามขั้นตอนที่วางไว้ให้ หากเห็นว่าการแสดงออกเกินระดับเหมาะสมไปแล้วก็หยุดยั้งเสีย

จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เรื่องการแสดงออกทางความเห็นแบบสุจริตเป็นสิ่งที่ควรแลกเปลี่ยนกันได้ อย่างน้อยน่าจะลองเก็บข้อสังเกตแต่ละแนวทางไปลองวิเคราะห์ประมวลกันดู.

อ้างอิง:
Beniuk S. Football and politics in Israel. Physical Activity Review 2018; 6: 8-13. doi
nypost.com
thenationalnews.com
dw.com

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( กีฬา การเมือง เสรีภาพ อิสราเอลและปาเลสไตน์ในสนามฟุตบอล - ไทยรัฐ )
https://ift.tt/3ypZ4KX
กีฬา

Bagikan Berita Ini

0 Response to "กีฬา การเมือง เสรีภาพ อิสราเอลและปาเลสไตน์ในสนามฟุตบอล - ไทยรัฐ"

Post a Comment

Powered by Blogger.