Theatre of Dream ก่อนเกม "แดงเดือด" กลายเป็น Theatre of Nightmare Dream
ภาพของกลุ่มแฟนผีประท้วงลงสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด ทำให้ตกอกตกใจไปทั่วโลก
หนึ่งนั้นคือภาพที่สวยงามของกลุ่มผู้สนับสนุน (ส่วนใหญ่)
สองก็เป็นภาพที่ดูมืดมนจากกลุ่มที่เห็นตรงข้าม (ส่วนน้อย)
ภาพที่เราเห็นแฟนผีสองร้อยกว่าคนบุกลงไปในสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด
บางคนเท่านั้นที่ก่อความวุ่นวาย ส่วนใหญ่ก็คงลงไปประท้วงเชิงสัญลักษณ์
ให้ เจ้าของทีม ตระกูลเกลเซอร์ ได้ทราบ
เชื่อว่าพวกเขาคงเห็นภาพกันหมดแล้ว...ส่วนจะทำอย่างไรต่อไปนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง
แม้แต่ข้อเรียกร้องให้ขายทีมหรือล่าสุดที่ขอคำตอบจากข้อเสนอสามสี่ข้อที่ให้แฟนผีเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารทีมมากขึ้น มีการยื่นคำขาดในวันศุกร์ ที่จะถึงนี้....
มีความเชื่อว่าก็ไม่น่าจะได้คำตอบที่พวกเขาพึงพอใจนัก
แน่นอนครับ...แฟนบอลที่ไม่เป็นแฟนบอลท้องถิ่น ที่รักฟุตบอล อยากชมเกมฟุตบอล
อยู่ห่างไกลจากจุดเกิดเหตุ คงมองมุมของการประท้วงหลายๆครั้งของสาวกปีศาจแดง
ในมุมที่แตกต่างจากแฟนบอลท้องถิ่นที่นั่น
มีบ้างก็ไม่รู้ข้อมูลเชิงลึก...
ผมนั่งดูรายการข่าว หลายช่อง พิธีกรบางท่านพยายามนำเสนอเรื่องนี้
ไปในแบบที่ผิดจากข้อเท็จจริง อาจขาดการศึกษาและติดตามพื้นฐานของปัญหา
ก็พูดกันไปเรื่อย
เช่น แฟนผีประท้วงเพราะ ทีมไม่ซื้อนักเตะมาลุ้นแชมป์กับ แมนฯซิตี้
ทีมขี้เหนียวงบประมาณ......
????????
ถ้าไม่ใช่แฟนผี หรือไม่ตามบอลมามากนัก ก็ "เชื่อ" ทันที
พาลด่าแฟนผีที่ลงไปประท้วงจนบอลถูกเลื่อนออกไป
ประหนึ่งว่า "กูรอดูบอลจนดึกดื่น"
พวกมึงประท้วงกันทำไม
แฟนบอลตัวจริงคงมีคำตอบในสามสี่บรรทัดที่ผมเขียน ไม่ขออธิบายอะไร
แต่ก็อยากบอกว่า ความคิดแบบนี้ ......ไม่ใช่เรื่องผิด
แต่ต้องทำความเข้าใจและศึกษาว่า เรื่องที่เรามองเห็นตรงข้ามนั้นมันเป็นมาอย่างไร
ผมเขียนในเพจ เมื่อวันที่หกทีมดังแยกตัวไปซุปเปอร์ ลีก ไปแล้วว่าแฟนบอลท้องถิ่นแสดงออกมาอย่างไร ต่อเรื่องนี้
ไม่ขอฉายซ้ำ...ไปอ่านในเพจย้อนหลังกันนะครับ
ส่วนที่อยากเขียนถึงในฐานะคอลัมนิสต์...ที่มองเรื่องนี้มานาน
ลองไปดูมูลเหตุของการประท้วงประวัติศาสตร์
ที่มีโอกาสนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่วงการฟุตบอลอังกฤษ อีกครั้ง
ภาพที่เห็นในการประท้วงดูออกมาเข้มข้นก็นับว่าเป็นครั้งแรกที่วงการฟุตบอลได้เห็น
มันคงไม่ใช่พึ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน
มันคงไม่ใช่พึ่งเกิดขึ้นเพราะ แมนฯยูไนเต็ด จะแยกตัวไปตั้งซุปเปอร์ ลีก
มันเกิดขึ้นนับจาก ตระกูลเกลเซอร์ เข้ามากวาดหุ้นสโมสรในเวลาสองปี
ก่อนเป็นเจ้าของกิจการ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
"แบรนด์ฟุตบอล" ที่มีมูลค่าสูงสุดในวงการกีฬาโลก
❌เกลเซอร์ ผู้เดียวดาย❌
ไทม์ไลน์ของ เกลเซอร์ เอาแบบพอเข้าใจครับ
2003.... มี.ค. มัลคอล์ม เกลเซอร์ ซื้อหุ้นจำนวน 2.9% ในทีมแมนฯยูไนเต็ด
2004.... หุ้นเกลเซอร์ ในทีมถึงระดับ 20% ใน เดือนมิ.ย. และใกล้ 30% ในเดือน ต.ค. พร้อมยื่นข้อเสนอซื้อกิจการสโมสรในเดือนธันวาคม
พ.ค.2005... ตระกูลเกลเซอร์ ยื่นข้อเสนอซื้อกิจการสโมสรอย่างเป็นทางการวันที่ 12 พ.ค.หลังจากมีหุ้น 57% เพราะ จอห์น แมกเนียร์ และ เจพี แมกมานัส ขายหุ้น 28.89% ให้ในวงเงิน 125 ล้านปอนด์
แฟนผียุค 2000 คงจำกันได้ว่า จอห์น แมกเนียร์ กับ เซอร์ อเลกส์ เฟอร์กูสัน ที่สนิทกันเพราะชอบการแข่งม้า..ก่อนทะเลาะกันเรื่อง สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของม้าแข่งที่ชื่อ
'Rock of Gibraltar' (ลองไปเสิร์ชกันดู)
จนกลายเป็นที่มาของการขายหุ้นสโมสร
ในที่สุดก่อนที่สิ้นเดือนจะมีหุ้น 76% จนคณะกรรมการบริหารมีมติยอมรับข้อเสนอการซื้อสโมสร
มิ.ย. 2005.... เกลเซอร์ กวาดซื้อหุ้น 98% และเป็นเจ้าของสโมสรอย่างสมบูรณ์แบบ
ในการดำเนินงานนี้พวกเขากู้เงินจำนวน 525 ล้านปอนด์ เพื่อซื้อหุ้นจำนวนนี้ทั้งหมด
ถ้าบวกดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เกือบ 8-900 ล้านปอนด์
ลักษณะแบบนี้คือ leveraged buy หรือการระดมทุนด้วยการ "กู้" เงิน
จากสถาบันการเงิน มาซื้อหุ้นแมนฯยูไนเต็ด
แล้วออกจาก ตลาดหุ้นที่ลอนดอน เป็นบริษัท แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จำกัด
ไม่ใช่ มหาชน หรือ PLCอีกต่อไป
พูดแบบพวกเราคล้ายๆ "จับเสือมือเปล่า" อะไรแบบนั้น
นั่นเองที่แฟนผี ที่อังกฤษเขารู้ทันครับ...
หลังการเทก โอเวอร์ แฟนผีเริ่มแสดงการคัดค้าน หลายกลุ่ม มากมาย
มีกลุ่มหนึ่งแยกไปตั้งแยกตัวไปตั้งทีม FC United of Manchester
สมัครเป็นสมาชิกสมาคมฟุตบอลอังกฤษ และเข้าแข่งขันระดับดิวิชั่น10
ปัจจุบันขึ้นมาอยู่ดิวิชั่น 6 ลีกสมัครเล่นภาคเหนือ (National League North)
แชมป์ลีกนี้ขึ้น "คอนเฟอเร้นส์" หรือ ด.5 ใกล้ลีก ทู นั่นเอง
คำถามคือทำไม "แฟนผี" ถึงคัดค้านตั้งแรก พวกเขาเห็นอะไร
คำตอบก็ไม่ยากเกินความเข้าใจ เขียนแบบให้เข้าใจง่ายๆ
แฟนผีรู้ดีว่า "เกลเซอร์" ผลักภาระหนี้สินให้เป็นของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
ส่วนกำไร เข้าบ้านเกลเซอร์ ตามข่าวที่ออกมา
โดยแฟนผีก็ติดตามเรื่องนี้ใกล้ชิด
เดี๋ยวมีข่าว ลูกชายขายหุ้น, ลูกสาวขายหุ้น รับเงินหลายพันล้านบาท...
เข้าเป๋าตุง.....
ส่วนยอดหนี้สโมสรนั้นเกิดขึ้นนับตั้งแต่ เกลเซอร์ เป็นเจ้าของทีม
3 ประเด็นที่พอสรุปได้ดังนี้
1 มัลคอล์ม เกลเซอร์ "กู้เงิน" มาซื้อหุ้น โดยไม่ใช้เงินตัวเองเลยสักเพนส์เดียว
ผ่านบริษัท เดอะ เกลเซอร์ โฮลดิง "เรด ฟุตบอล"
เพื่อบริหารทีมฟุตบอล โดยลูกๆทั้ง 6 คนเป็นผู้บริหารบริษัทนี้ อัฟราม, โจล, เควิน, ไบรอัน, ดาร์ซีย์ (ลูกสาว)และ เอ็ดเวิร์ด
ปีเดียวหลังจากได้เป็นเจ้าของทีม มัลคอล์ม ป่วยเป็นโรคหัวใจ เมื่อปี 2006
โจกับ อัฟราม ช่วยกันบริหารทีมแทนพ่อ ส่วนอีกสี่คือกรรมการบริหาร
หกปีให้หลัง มัลคอล์ม สิ้นใจ (เมื่อปี2014)
หุ้นกว่า 90% จึงแบ่งเท่ากันทั้งหกคน ก็เป็นกงสี นั่นแหละครับ
อ้อ...บุคคลที่ทำให้ "ดีล" การซื้อแมนฯยูไนเต็ด บรรลุเป้าหมายมีชื่อว่า....
เอ็ด วูดเวิร์ด
นักการเงินที่ไม่รู้เรื่องกีฬา แต่เก่งเรื่อง "หาเงิน" ให้ "นาย"
ตอนแรก ซีอีโอ คือ เดวิด กิลล์ คงจำกันได้...แต่ต่อมาคือ เอ็ด วูดเวิร์ด
เอ็ด ยอมเป็นหนังหน้าไฟให้ เกลเซอร์ ...แต่สุดท้ายก็ต้องลาออก
ไม่รู้ว่า เอ็ด เห็นอะไรบางอย่างหรือเปล่า จึงลาออก เร็วกว่ากำหนด
(จริงๆจะออกสิ้นปีนี้อยู่แล้ว)
2 บริษัท "เรด ฟุตบอล"
บริษัท ท่ีว่านี้นำเงินกู้ไปลงทุนกับ แมนฯยูฯ
โดย มัลคอล์ม เป็นประธานบริหารบริษัทนี้ กำหนดนโยบาย, กลยุทธ์ , หาเงิน
จากบริษัท แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จำกัด มหาชน (ตัวสโมสร)
คนรู้เรื่องธุรกิจ และการเงิน จะเข้าใจเรื่องนี้ดี
ส่วนใครที่ยังงงๆ อยู่ ก็สรุปสั้นๆ ว่า เกลเซอร์ "กู้เงิน" มาซื้อทีมแมนฯยูฯ
ผลักภาระหนี้ให้สโมสรรับไป
ส่วนพวกเขาคือผู้บริหารผ่านบริษัท "โฮลดิง" ที่ชื่อ "เรด ฟุตบอล"
ดูแลทุกสิ่งอย่างในสโมสร เป็นต้นว่า
*รอรับผลกำไรแต่ละปี
*ขายหุ้น
*ดูแลหลักทรัพย์ เช่นหุ้นกู้, กองทุน, พันธบัตร
*ดูแลทรัพย์สินทางปัญญา ก็ "แบรนด์" แมนฯยูไนเต็ด ลิขสิทธิภาพลักษณ์
ที่เปลี่ยนเป็นเงินเข้าสโมสร
*เงินปันผล มีทุกปี อยู่แล้ว
*ดูแลอสังหาริมทรัพย์ เช่น สนามซ้อม, สนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด
*แถมหนี้สินยังช่วยเรื่องภาษีอีกต่างหาก
อีกจุดหนึ่งที่ "สร้างรายได้" ให้ เกลเซอร์ คือ การขายหุ้นบางส่วน
หลังจากนำทีมแมนฯยูฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งที นิวยอร์ค ปี 2012 (แต่งตัวพร้อม)
พอมูลค่าหุ้นถึงจุดที่ปันขายเป็นบางส่วนก็ จัดทันที
ยิ่งกว่านั้นพวกเขานำบริษัทจากโอลด์ แทรฟฟอร์ดื ไปจดทะเบียนที่เกาะ เคย์แมน
แถบหมู่เกาะแคริบเบียน ดินแดนปลอดภาษีและฟอกเงินของโลก
หมายความว่า "กำไร", รายได้นิติบุคคล , ผลประกอบการ ทั้งหมด
ได้รับการยกเว้นการเสียภาษีรายได้เหล่านี้ที่ เคย์แมน
เป็นไงครับ...บ้านเกลเซอร์ "win" แต่เพียงผู้เดียว
นั่นแหละครับที่แฟนผีในอังกฤษรู้ดีว่า
"กำไร" เข้าบ้านเกลเซอร์ ส่วนหนี้ เป็นของแมนฯยูไนเต็ด
ส่วนความซับซ้อน ซ่อนเงื่อนในการทำบัญชี บริหารการเงิน
เราไม่ต้องไปรู้เยออะไรขนาดนั้น
เอาผลที่เกิดขึ้นแล้วทำให้แฟนผีโกรธมากตลอด16 ปี เป็นพอ
3 หนี้สินแมนฯยูไนเต็ด
ตัวเลขหนี้สินล่าสุดที่เป็นข่าวเมื่อ 31 มี.ค. 2021 คือ...
สโมสร แมนฯยูฯ มีหนี้ 455 ล้านปอนด์ (18,200 ล้านบาท)
คือตัวเลขเพิ่มขึ้นในเวลา12 เดือนที่ผ่านมาเพราะ
โควิด 19 ทำให้รายได้ หายไปหลายร้อยล้านปอนด์....
คำว่า "หนี้" นั้นเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่ เกลเซอร์ เป็นเจ้าของทีมแล้ว
เมื่อเขาผลักภาระการชำระเงินกู้ทั้งต้นและดอกเบี้ยให้เป็นของสโมสรแมนฯยูไนเต็ด
จริงๆแล้ว ถ้ารวมเงินกู้ปี 2005 ดอกเบี้ยเงินกู้ รวมๆแล้วเกือบพันล้านปอนด์ นะครับ
ที่สโมสรแมนฯยูไนเต็ด รับภาระส่วนนี้่ไป
ส่วนตัวเกลเซอร์ ปลอดหนี้จากการที่มี "เกลเซอร์ โฮลดิง" มาบริหารทีมนั่นแหละครับ
มองในมุมการทำธุรกิจ "เกลเซอร์" ไม่มีความผิดอะไร
นักธุรกิจระดับโลก ใครๆก็ทำกัน ใช้วิธีที่เรียกว่า "วิศวกรรมการเงิน"
เล่นแร่แปรธาตุ ทั้งกำไร, เงินปันผล, และเงินจากการขายหุ้นบางส่วนในตลาดหุ้นนิวยอร์ค เข้ากระเป๋าบ้านเกลเซอร์ อย่างตอนนี้หุ้นละ 17 ดอลลาห์ หรือ 572 บาท
ขายแต่ละเที่ยวหลักล้านหุ้น ก็ได้เงินเข้ากระเป๋าเป็นหลักพันล้านบาท
ยกตัวอย่างเช่น ...ปี 2017 บริษัท เรด ฟุตบอล ขายหุ้นไป 4.3 ล้านหุ้น
นำเงินเข้าเป๋าตัวเอง73 ล้านเหรียญสหรัฐ (หุ้นละ 17 เหรียญ)
คิดเป็นเงินไทย 4 ปีก่อน ดอลลาห์ ละ 33บาท ก็ 2,400 ล้านบาท
อันนี้ไม่รวมการขายหุ้นอยู่เรื่อยๆ เมื่อ มูลค่าหุ้นเพิ่ม
ดังนั้นแฟนผีแดงจึงมองว่า..."เกลเซอร์" กอบโกย, โลภมาก เห็นแก่ได้
ใช้สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดที่มีความเป็นมายิ่งใหญ่ เกรียงไกร
นำความเป็นเป็น "แบรนด์ฟุตบอล" เพื่อหาเงินจาก "มูลค่า" ของทีมบอลระดับโลก
เข้าบ้านเกลเซอร์ อย่างต่อเนื่อง 16 ปี
ขณะที่ภาระหนี้สินตกเป็นของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดนั่นละครับ
เหมือนมองคนละมุม....
แต่ประเด็นคือฟุตบอลอาชีพในอังกฤษมันคือ "วัฒนธรรมฟุตบอล"
อย่างที่ผมเคยเขียนไปมันมีเจ้าของร่วม
มันคือสมบัติของท้องถิ่น
ชุมชน
ของเมือง
ของแผ่นดิน
ไม่ได้เหมือนธุรกิจทั่วไป มันคนละแบบกัน
ส่วนเรื่อง "ซุปเปอร์ ลีก" มันปลายเหตุแล้วครับ
แค่มาตอกย้ำให้แฟนผี ใช้โอกาสนี้โจมตี เกลเซอร์
เพราะเชื้อมันมีมานานตั้งแต่ปี 2005 วันแรกที่ เกลเซอร์ เป็นเจ้าของนั่นแหละ
เรื่องมันก็ประมาณนี้ครับ....ที่เป็นเพาะบ่มเชื้อมา 16 ปี
ส่วนการประท้วงของแฟนผีล่าสุดมันก็มีผลกระทบเหมือนกัน
โปรแกรมแข่งใหม่ ต้องมาจัดกันอีก
ตามด้วยข่าวลือ...ออกมาว่า แมนฯยูฯ จะโดนตัดแต้ม
เอาเรื่องโปรแกรมแดงเดือดก่อนครับ
สำรวจโปรแกรมทั้งสองทีมและช่วงวันเวลาตลอดเดือนพ.ค. นะครับ
แมนฯยูไนเต็ด น่าจะผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศยูโรปา ลีก
นั่นทำให้พวกเขามีโปรแกรมเพิ่มสองนัด
คือรอบรองชนะเลิศนัดสองและรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 26 พ.ค.
โดยโปรแกรมแข่งของแมนฯยุไนเต็ด และ ลิเวอร์พูล มีดังนี้
6 โรมา (ย) 8 เซาธ์ (ห)
9 วิลล่า (ย) 16 เวสต์บรอม (ย)
12 เลสเตอร์ (ห) 19 เบิร์นลีย์ (ย)
19 ฟูแลม (ห) 23 พาเลส (ห)
23 วูล์ฟ (ย)
26 ชิงยูโรปา (แน่ๆ)
ส่วนโปรแกรมลิเวอร์พูล
8 เซาธ์ (ห)
16 เวสต์บรอม (ย)
19 เบิร์นลีย์ (ย)
23 พาเลส (ห)
ช่วงเวลาที่เหมาะสุดคือ....ระหว่างซีซั่น
ตามกฏสมาคมฟุตบอลอังกฤษทุกรายการในอังกฤษต้องจบใน 1 มิ.ย.ของทุกปี
ดังนั้น 26-31 พ.ค. นั้นได้อยู่ แต่ปัญหาคือ แมตช์ที่เลื่อนไปนั้น กระทบต่อผลงาน
ทีมอื่นๆหรือไม่ มีการได้เสียจากแมตช์นี้มั้ย เช่นลุ้นช.ป.ล, ลุ้นตกชั้น
ดังนั้นถ้าแข่งในซีซั่นปกติ ถือว่าโอเคเลย
ที่พูดกันเยอะคือสลับโปรแกรม เวสต์บรอม-ลิเวอร์พูล วันที่ 16 พ.ค.
ให้มาเตะเร็วขึ้นในวันที่ 12-13 พ.ค. วันเดียวกับที่แมนฯยูฯ เตะเลสเตอร์
จากนั้น 16 พ.ค. เป็น แดงเดือด
นี่คือเข้าท่าที่สุด
ตัดแต้มผีแดง????
อีกเรืองที่เป็นผลกระทบจากการเลื่อนแมตช์แข่งขันคือ...ตัดแต้มเจ้าบ้าน
ตามกฏของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ มาตรา 8.3.4
ถ้าแมนฯยูไนเต็ด ถูกสอบสวนว่ามีความผิดจนไม่สามารถจัดการแข่งขันเกมนี้ได้
ส่งผลให้มีการยกเลิกแมตช์แข่งขัน
แมนฯยูไนเต็ดจะโดนตัดคะแนน โดยลิเวอร์พูล จะได้สามแต้มแทน
(ไม่มีเรื่องการปรับเงิน)
ประเด็นคือ...แมนฯยูไนเต็ด มีความพร้อมในการจัดแมตช์นี้ครับ
หลังจากเคลียร์แฟนบอลในสนามและหน้าสนามได้
แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจขอความร่วมมือและสั่งให้ "ยกเลิก" เพราะเหตุผลเรื่องความปลอดภัยในทรัพย์สิน, สวัสดิภาพ รวมทั้งเรื่องมาตรการควบคุมและป้องกัน "โควิด19"
เนื่องจากแฟนบอลบุกเข้าไปในสนามแถมมีบางส่วน (รายงานว่าสิบคน)
เข้าไปห้องเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวนักบอล
ตำรวจ, สภาเมืองแทรฟฟอร์ด (ท้องถิ่นแถวนั้น) เห็นตรงกันว่าต้องยกเลิก
ตัวแทนสองแมนฯยูฯ, ลิเวอร์พูล โอเค, พรีเมียร์ลีก โอเค
คำสั่งยกเลิกจึงเป็นของ "ตำรวจ" ไม่ใช่เพราะ แมนฯยูฯ ไม่มีความพร้อมในการจัดแข่งขัน
การตัดแต้ม..."ไม่น่า" และ "ไม่ควร"เกิดขึ้น
สังเกตให้ดีนะครับ อังกฤษมี กฏไว้เป็นกรอบ
แต่เวลาปฏิบัติ "สามัญสำนึก" หรือ common sense จะถูกพิจารณา
ผมมองว่า..เรื่องนี้ถ้า "ตัดแต้ม" ก็ล้าหลังครับ เพราะการประท้วง ไม่ได้รุนแรงอะไรขนาดนั้น
แต่ถ้ามี "คนตาย" แม้แต่ "คนเดียว" โอเค เรื่องใหญ่ อันนี้ ถือว่าหนัก
เชื่อว่าทุกฝ่ายที่คุยกัน...หาทางออกที่ "ดีที่สุด" สำหรับทุกคน
การกีฬาไม่ใช่ฆ่ากันให้ตายไปข้างหนึ่งครับ
กฏมีไว้ป้องกันการละเมิด แต่ถ้ามันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย
คงไม่จำเป็นต้องใช้
สุดท้าย...ภาพที่ออกมาเชิงสัญลักษณ์นี้
"บ้านเกลเซอร์" เขาว่าอย่างไร
ผมตอบแทนได้เลยนะครับ
บ้านเกลเซอร์ จะเล่นเกมครับ
ลึกๆคือพวกเขาไม่สนใจแฟนผี เพราะก็ประท้วงมาตั้ง 16 ปี
แม้มีพลังแถมสื่อและตำนานนักเตะช่วย...แต่อีกไม่ช้าไม่นานหลังโควิดสงบ
พวกเขาน่าจะเพิ่มมูลค่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ...ได้อีก
มีการประเมินกันจากสถาบันการเงินว่าน่าจะถึงระดับ 7 พันล้านปอนด์
หรือ 280,000 ล้านบาท (ข้อมูลจาก น.ส.พ.เดอะ การ์เดี้ยน)
โห...ใช้เงิน 5-600 ล้านปอนด์ หรือ 24,000 ล้านบาทซื้อแมนฯยูฯ
16 ปีผ่านไป วันนี้น่าจะปั่นราคาได้สองแสนกว่าล้านบาท
เงินที่เห็นในอนาคตข้างหน้า "มหาศาล" รอพวกเขาไม่ไกลจากนี้
บอกเลยว่า...."บ้านเกลเซอร์" ไม่ตื่นตระหนกจากการประท้วงของแฟนผีเที่ยวล่าสุด
ป.ล. 1 ผมใช้เวลาเขียนคอลัมน์นี้ถึง 5 ชั่วโมง
นานที่สุดในการเขียนบทความทางเพจ jackie
เพราะต้องโทรสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญการเงิน ให้เข้าใจ
ป.ล. 2 ที่มาของข้อมูลบางส่วนที่สำคัญจาก...
คุณ นฤดล วรรณรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเงิน การลงทุน จากตลาดหลักทรัพย์
และผ่านประสบการณ์ธุรกิจกีฬาของ อเมริกัน พอตัว
แถมเป็นแฟนลิเวอร์พูล พันธ์ุแท้แต่ไม่ออกตัว... อีกต่างหาก
อ่านบทความและอื่น ๆ ( เบื้องหลังจากโรงละคร..... - สยามกีฬา )https://ift.tt/3eQeTRX
กีฬา
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เบื้องหลังจากโรงละคร..... - สยามกีฬา"
Post a Comment