เมื่อพูดถึงอเมริกันเกมส์ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนักในประเทศไทย แต่กลับได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลก ย่อมหนีไม่พ้น เบสบอล และทุกประเทศที่สหรัฐอเมริกาได้เดินทางไปวางรากฐานไว้ทั้ง ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ต่างก็มีเบสบอลเป็นกีฬาเบอร์หนึ่งในดวงใจด้วยกันทั้งสิ้น
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะว่า กีฬาเบสบอลถือเป็นกีฬาหมายเลขหนึ่งของชาวอเมริกันที่ได้รับความนิยมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาเคยเข้าไปวางรากฐานไว้ ซึ่งหากสหรัฐอเมริกาเดินทางไปในทั้งสองประเทศในปี 2021 กีฬาที่ได้รับความนิยมในประเทศนั้นอาจไม่ใช่เบสบอลก็เป็นได้..
Main Stand ขอพาคุณย้อนไปดูยุคทองของเบสบอล ในฐานะกีฬาประจำชาติของสหรัฐอเมริกา ก่อนจะตกเป็นเบอร์สองให้แก่ อเมริกันฟุตบอล อย่างเช่นในปัจจุบัน
กีฬาที่อยู่คู่ชาวอเมริกัน
เหตุผลหลักที่ เบสบอล กลายเป็นกีฬาหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา นั่นเป็นเพราะเบสบอลมีประวัติศาสตร์ร่วมกับประเทศแห่งนี้มาอย่างยาวนาน เรียกได้ว่าในวันที่ยุคทองของกีฬาชนิดนี้เริ่มต้นขึ้น ชาวอเมริกันยังไม่เคยรู้จักกีฬา อเมริกันฟุตบอล หรือ บาสเกตบอล เลยด้วยซ้ำ
ย้อนกลับไปยังทศวรรษที่ 1850s สองกีฬาที่ได้รับความนิยมมากของชาวอเมริกันขณะนั้นคือ คริกเกต และ เบสบอล โดยคริกเกตถือเป็นกีฬาที่ถูกนำเข้ามาสู่สหรัฐอเมริกาโดยชาวอังกฤษที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ เบสบอล กำลังเป็นน้องใหม่ที่มาแรง เนื่องจากเป็นกีฬาที่ชาวอเมริกันคิดค้นขึ้นเอง และมีรากฐานสำคัญอยู่ในเมืองใหญ่อย่าง มหานครนิวยอร์ก
ปี 1856 กีฬาเบสบอลได้รับความนิยมมากขึ้นจนเริ่มมีสื่อท้องถิ่นเรียกกีฬาชนิดนี้ว่า "กีฬาแห่งชาติ" (National Sport) นำมาสู่การก่อตั้งลีกแห่งชาติ (National League) ในปี 1876 ตามมาด้วยอเมริกันลีก (American League) ในปี 1901 ซึ่งการเกิดขึ้นของทั้งสองลีกที่ก่อตั้งมาแข่งขันกันเองนั้น สะท้อนถึงความนิยมในกีฬาเบสบอลที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 คล้ายคลึงกับช่วงบูมของอเมริกันฟุตบอลในทศวรรษ 1960s ที่มีการตั้งลีก American Football League มาแข่งขันกับ NFL
กีฬาเบสบอลในเวลานั้นได้รับความนิยมมากถึงขนาดที่ว่า แม้แต่อคติทางเชื้อชาติก็ไม่สามารถหยุดยั้งความสนใจในกีฬาชนิดนี้ได้ เพราะกฎที่ระบุไว้อย่างเด่นชัดในกีฬาเบสบอลโดยสมาคมนักเบสบอลแห่งชาติ (National Association of Base Ball Players) คือ ห้ามชาวแอฟริกันอเมริกัน หรือ คนผิวดำ มีส่วนร่วมกับการแข่งขันกีฬาเบสบอลโดยเด็ดขาด
ด้วยเหตุนี้ ชาวผิวดำจึงสร้างลีกเบสบอลของตัวเองขึ้นมาที่เรียกว่า ลีกเบสบอลคนผิวสีแห่งชาติ (National Colored Base Ball League) ในปี 1887 แม้จะไม่ประสบความสำเร็จและแข่งขันได้เพียงฤดูกาลเดียว แต่นี่แสดงให้เห็นถึงความนิยมที่แท้จริงของกีฬาเบสบอลที่ผู้คนทุกสีผิว ทุกเชื้อชาติในสหรัฐอเมริกาต้องการมีส่วนร่วม
กีฬาเบสบอลก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปี 1903 เมื่อ ลีกแห่งชาติ และ อเมริกันลีก ตัดสินใจรวมลีกกันและดำเนินการแข่งขันภายใต้ชื่อ เมเจอร์ลีก เบสบอล (Major League Baseball) หรือ MLB ซึ่งการแข่งขันเบสบอลในช่วงเวลานั้นรู้จักกันในชื่อ Dead-ball era เนื่องจากการแข่งขันในเวลานั้นมักมีการทำแต้มได้น้อย และผู้เล่นที่มีชื่อเสียงคือบรรดาพิตเชอร์ที่ขว้างลูกได้อย่างแม่นยำ จนทีมบุกหมดปัญญาตีลูกเพื่อทำแต้ม
Dead-ball era ดำเนินในกีฬาเบสบอลตั้งแต่ปี 1900 ถึง 1919 จนกระทั่งปี 1920 ยุคของเบสบอลแต้มน้อยได้สิ้นสุดลง และนำมาสู่จุดเริ่มต้นของยุคทองของกีฬาเบสบอล หรือ Golden Age ซึ่งจะทำให้กีฬาชนิดนี้ครองความยิ่งใหญ่ในฐานะกีฬาหมายเลขหนึ่งแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นเวลายาวนานถึง 40 ปี
ยุคทองของเบสบอล
ยุคทองของกีฬาเบสบอลเริ่มต้นขึ้นจากโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าในฤดูกาล 1920 เมื่อ เรย์ แชปแมน (Ray Chapman) ผู้เล่นของทีม คลีฟแลนด์ อินเดียนส์ เสียชีวิตเนื่องจากถูกลูกเบสบอลที่ขว้างโดยพิตเชอร์อัดเข้าที่หัว เขาถือเป็นผู้เล่นคนแรก และคนเดียวที่เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุในการแข่งขันเบสบอล
การเสียชีวิตของ เรย์ แชปแมน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎครั้งใหญ่ของ MLB ที่กำหนดไว้ว่า พิตเชอร์จะต้องขว้างลูกเบสบอลใหม่ที่มีสีขาวสดเท่านั้น ห้ามหยิบลูกเบสบอลเก่าที่สกปรกมาใช้โดยเด็ดขาด เพราะเหตุผลที่แชปแมนเสียชีวิต เนื่องจากลูกเบสบอลที่ใช้ขว้างเก่าเกินไป จนเขามองไม่เห็นลูกที่กำลังพุ่งเข้ามาด้วยความเร็วสูง
การเปลี่ยนแปลงกฎตรงนี้เอื้อประโยชน์ให้บรรดาผู้เล่นเกมรุก หรือ ฮิตเตอร์ สามารถมองเห็นและตีลูกเบสบอลได้ง่ายขึ้น นั่นจึงหมายถึงการทำแต้มที่เพิ่มขึ้นด้วย และเฉกเช่นกับกีฬาอื่นทั่วไปบนโลก เมื่อมีการทำแต้มสูงขึ้น ความนิยมย่อมเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ยุคทองของกีฬาเบสบอลจึงเริ่มต้นจากจุดนี้
และก็เช่นเดียวกับกีฬาอื่นทั่วโลก หากต้องการจะดึงดูดแฟนจำนวนมากให้เข้ามาสนใจในการแข่งขัน กีฬาเบสบอลต้องมีทีมมหาอำนาจและผู้เล่นที่เป็นซูเปอร์สตาร์ ซึ่งทีมที่กลายเป็นผู้ครองความยิ่งใหญ่ในยุคทองของกีฬาเบสบอล คือ นิวยอร์ก แยงกีส์ (New York Yankees) ที่ตัดสินใจกว้านซื้อผู้เล่นฝีมือดีจากคู่ปรับตลอดกาล บอสตัน เรดซอกส์ (Boston Red Sox) นำมาสู่การคว้าแชมป์เวิล์ดซีรีส์สมัยแรกได้สำเร็จในปี 1923
ผู้เล่นอันเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้นิวยอร์ก แยงกีส์ ครองความยิ่งใหญ่คือ จอร์จ เฮอร์แมน รูธ หรือ เบบ รูธ (George Herman "Babe" Ruth) ผู้เล่นที่กล่าวกันว่ายอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์กีฬาเบสบอล เขาสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจสู่สายตาผู้ชมด้วยการทำแต้มเป็นว่าเล่น โดยเฉพาะการตีโฮมรันที่ทำลายสถิติของ MLB ครั้งแล้วครั้งเล่า
โดยในปี 1921 เขาสร้างสถิติตีโฮมรันได้มากที่สุดในหนึ่งฤดูกาลที่ 51 ครั้ง ก่อนจะทำลายสถิติของตัวเองอีกครั้งในปี 1927 ด้วยการตี 60 โฮมรันในหนึ่งฤดูกาล ซึ่งผลงานที่ยอดเยี่ยมของรูธ ช่วยปฏิวัติสไตล์การเล่นของกีฬาเบสบอลที่แต่เดิมขายเกมรับเป็นสำคัญให้กลายเป็นการเล่นที่เน้นตีโฮมรันเป็นหลัก นี่จึงเป็นการดึงดูดผู้ชมเข้ามาในสนามเป็นจำนวนมาก โดยในปี 1930 กีฬาเบสบอลสามารถสร้างยอดผู้ชมสูงสุดถึง 8,211 ราย
แม้จะได้รับผลกระทบบ้างในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ The Great Depression ในช่วงต้นทศวรรษ 1930s จนคนดูเข้าสนามมีไม่ถึงห้าพันคน แต่เนื่องจากอิทธิพลของการรายงานสดเกมเบสบอลผ่านทางวิทยุ ซึ่งช่วยให้แฟนเบสบอลติดตามการแข่งขันได้ง่ายแม้จะไม่ได้ดูการแข่งขันในสนาม ก็ช่วยให้ผู้คนยังคงติดตามกีฬาเบสบอลอย่างเหนียวแน่น และมีความต้องการที่จะกลับไปดูการแข่งขันในสนามเมื่อมีโอกาส
นี่เองที่ทำให้ยอดคนดูกีฬาเบสบอลพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อยอดคนดูเฉลี่ยทั่วประเทศในปี 1945 อยู่ที่ 14,914 ราย ก่อนจะเพิ่มเป็น 16,913 รายในปี 1949 ซึ่งในช่วงเวลานี้เองกีฬาเบสบอลได้ก้าวข้ามกำแพงสีผิวได้สำเร็จ เมื่อ แจ็คกี้ โรบินสัน กลายเป็นนักเบสบอลผิวดำคนแรกที่ได้เล่นใน MLB หลังเซ็นสัญญากับทีม บรูคลิน ดอดเจอร์ส (Brooklyn Dodgers) และคว้ารางวัล MVP มาครองได้สำเร็จ
เราจึงสามารถพูดได้ว่า เบสบอล กลายเป็นกีฬาแห่งชาติของชาวอเมริกันอย่างแท้จริง โดยในช่วงทศวรรษ 1950s–1960s ได้มีการเพิ่มจำนวนทีมใน MLB รวมถึงพยายามย้ายโลเคชั่นทีมจากเดิมที่กระจุกตัวบริเวณฝั่งตะวันออกและตอนเหนือ ไปยังเมืองอื่นทั่วประเทศ ซึ่งนำมาสู่การสร้างสนามใหม่ที่ดึงดูดแฟนๆมากมายเข้าสู่กีฬาชนิดนี้ ส่งผลให้เบสบอลกลายเป็นกีฬาอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งยุคทองของพวกเขาสิ้นสุดลง
ร่วงหล่นสู่อันดับสอง
ขณะที่เบสบอลกำลังครองความยิ่งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา กีฬาหนึ่งที่มาแรงมากๆในทศวรรษ 1960s คือ อเมริกันฟุตบอล ซึ่งเกมคนชนคนก็ได้ดังเป็นพลุแตกแบบฉุดไม่อยู่ เมื่อเกิดความร่วมมือระหว่าง NFL และ AFL นำไปสู่การแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลในวงการอเมริกันเกมส์ "ซูเปอร์โบวล์" (Super Bowl) ซึ่งเกมแชมป์ชนแชมป์นี้เองที่ทำให้อเมริกันฟุตบอลได้รับความสนใจจากชาวอเมริกันทั่วประเทศ และมีความนิยมใกล้เคียงกับเบสบอลขึ้นมา
ในทางกลับกัน เบสบอล กับเจอปัญหาใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1970s เมื่อบรรดาผู้เล่นมีปัญหากับเจ้าของทีมในเรื่องของค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม นำไปสู่การสไตรค์ครั้งแรกของผู้เล่นในปี 1972 ตามมาด้วยการสไตรค์อีกหลายครั้งในปี 1973, 1976 และ 1980 แต่การสไตรค์ที่สร้างอิทธิพลมากที่สุดคือ การสไตรค์ในปี 1981 ซึ่งถือเป็นการหยุดงานครั้งใหญ่ที่ทำให้เกมเบสบอล 713 เกมต้องถูกยกเลิก นำมาสู่ความเสียหายมูลค่า 146 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ความสัมพันธ์เรื่องเงินระหว่างเจ้าของทีมและผู้เล่น กลายเป็นปัญหาที่อยู่กับ MLB เสมอมา แม้ทุกวันนี้นักกีฬาเบสบอลจะได้รับค่าเหนื่อยอันเหมาะสม ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการสไตรค์ในปี 1994 จนส่งผลให้เกมเวิลด์ซีรีส์ต้องถูกยกเลิก แต่นั่นต้องแลกมากับการที่เบสบอลกลายเป็นลีกกีฬาขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวในสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีกฎเพดานค่าเหนื่อย หรือ Salary Cap
เมื่อไม่มีกฎเพดานค่าเหนื่อยเหมือนอเมริกันฟุตบอล จึงเป็นเรื่องยากที่ทีมขนาดเล็กจะต่อกรกับทีมขนาดใหญ่ นำไปสู่ความน่าตื่นเต้นในการแข่งขันที่น้อยลง โดยในปี 2013 ลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส (Los Angeles Dodgers) ใช้ค่าเหนื่อยถึง 232 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง โอคแลนด์ แอธเลติกส์ (Oakland Athletics) ใช้ค่าเหนื่อยไปเพียง 56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในทางกลับกัน ลีกอเมริกันฟุตบอลมีกฎเพดานค่าเหนื่อยควบคุมไว้อยู่ เราจึงเห็นทุกทีมใน NFL ใช้เงินงบประมาณที่ไม่ต่างกันมาก ส่วนใครจะทำผลงานได้ดีกว่ากันต้องวัดกันที่ความสามารถในการสร้างทีมล้วนๆ เราจึงเห็นทีมจากเมืองที่ไม่ได้เป็นเมืองใหญ่มาก เช่น บัฟฟาโล บิลส์ (Buffalo Bills) มีผลงานเหนือทีมจากเมืองใหญ่อย่าง นิวยอร์ก เจ็ตส์ (New York Jets) เพราะเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักสำหรับการประสบความสำเร็จใน NFL และนั่นทำให้การแข่งขันสนุกยิ่งขึ้น
นี่จึงทำให้เบสบอลประสบปัญหาในการสร้างฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นในบางเมือง ซึ่งไม่เพียงจะต้องการเห็นทีมคว้าชัยชนะ แต่ต้องการเห็นนักเบสบอลที่เกิดและเติบโตในเมืองนั้นๆลงเล่นให้กับทีมบ้านเกิด ทว่าเมื่อไม่มีกฎเพดานค่าเหนื่อย ผู้เล่นฝีมือดีจึงย้ายไปอยู่ทีมในเมืองใหญ่กันเสียหมด ส่วนทีมเบสบอลจากเมืองเล็กๆ พวกเขาก็จะขาด Hometown Hero ของตัวเอง
โอคแลนด์, แคนซัส ซิตี้ หรือ ซีแอตเทิล คือเมืองขนาดเล็กที่มีทีมเบสบอลและทีมอเมริกันฟุตบอลเป็นของตัวเอง แต่ความสนใจทั้งหมดของคนในเมืองกลับไปอยู่ที่ทีมอเมริกันฟุตบอล เพราะไม่เพียงเกมคนชนคนจะสนุกตื่นเต้นกว่า แต่จุดเด่นที่เคยมีของทีมเบสบอลคือความผูกพันกับท้องถิ่นกลับยิ่งลดน้อยลงทุกวัน
ปี 2008 มีการสำรวจกีฬาอันดับหนึ่งในดวงใจของชาวอเมริกัน แน่นอนว่า อเมริกันฟุตบอล ครองอันดับหนึ่งมาด้วยคะแนน 41 เปอร์เซ็นต์ แต่เบสบอลกลับได้รับความนิยมเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยปัจจุบันเป็นที่รู้กันดีแล้วว่า เบสบอล เป็นกีฬาคั่นเวลาระหว่างที่ NFL ปิดฤดูกาล
เมื่อเกมอเมริกันฟุตบอลกลับมาอีกครั้งในช่วงเดือนกันยายน ซึ่ง MLB จะอยู่ในโค้งสุดท้ายการเข้าสู่รอบเพลย์ออฟและเวิลด์ซีรีส์พอดี ผู้คนจะเลิกดูเบสบอลกันไปหมด แล้วหันไปดู NFL ที่เพิ่งเปิดฤดูกาลแทน นี่จึงทำให้เรตติ้งของรายการเวิลด์ซีรีส์ร่วงหล่นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2005 ส่วนยอดคนดูรวมจากเดิมประมาณช่วงต้นทศวรรษ 2000s ที่มีผู้ชมผ่านโทรทัศน์ 80 ล้านคนต่อเกม กลับลดลงเหลือ 26.8 ล้านคนต่อเกม
สิ่งหนึ่งที่กีฬาเบสบอลต้องยอมรับคือ ธรรมชาติของเกมเบสบอลที่เชื่องช้าและขาดความน่าตื่นเต้น ไม่เหมาะสมกับความนิยมของคนในยุคปัจจุบันที่เสพกีฬาในฐานะความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง และเมื่อเราหันไปมองอเมริกันฟุตบอลที่ดุเดือดราวกับหนังแอ็กชั่น แถมยังสามารถเกิดเหตุพลิกผันมากมายในเสี้ยววินาที การตกลงมาเป็นเบอร์สองของเบสบอลจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ครั้งหนึ่ง เบสบอล เคยเป็นกีฬาอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกาเพราะความน่าตื่นตาตื่นใจในการทำโฮมรันและการเข้าถึงผ่านช่องทางวิทยุ แต่ในวันที่การทำทัชดาวน์น่าตื่นเต้นกว่าและเกมอเมริกันฟุตบอลทางหน้าจอโทรทัศน์สนุกกว่า นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เบสบอลต้องยอมรับความจริง และก้าวเดินต่อไปในฐานะกีฬาอันดับสองของสหรัฐอเมริกา
อ่านบทความและอื่น ๆ ( ความนิยมที่เปลี่ยนไป : เหตุใดเบสบอลถึงเป็นกีฬาประจำชาติสหรัฐอเมริกาที่เสียท่าให้อเมริกันฟุตบอล? - Sanook )https://ift.tt/3mx17s5
กีฬา
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ความนิยมที่เปลี่ยนไป : เหตุใดเบสบอลถึงเป็นกีฬาประจำชาติสหรัฐอเมริกาที่เสียท่าให้อเมริกันฟุตบอล? - Sanook"
Post a Comment