Search

โชว์โลกเห็น ซู-75 เช็กเมต เจ็ตขับไล่สเตลธ์ใหม่รัสเซีย มีดีไม่เบาตามตัว - ไทยรัฐ

เปิดตัวให้โลกต้องรู้ ซู-75 เช็กเมต สเตลธ์ขับไล่เบาจากรัสเซียในงาน MAKS 2021 ออกแบบมาให้ลดการตรวจจับของเรดาร์ได้ บินเร็วถึง 2 มัค ติดตั้งอาวุธในลำตัว ทำเป็นเครื่องไร้นักบินได้ ในราคาเบาสมชื่อ

สำหรับวงการเครื่องบินขับไล่ ปี 2564 เป็นปีที่น่าสนใจมากแม้ว่าทั้งโลกจะประสบกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้งบประมาณป้องกันประเทศของหลายชาติลดลงไป แต่การพัฒนาเทคโนโลยีก็ยังดำเนินต่อไปไม่หยุด ที่ผ่านมา เครื่องบินรบในฝั่งของค่ายรัสเซียก็เป็นตัวเลือกที่หลายชาติให้ความสนใจ และมีการสั่งซื้อเครื่องบินรบรุ่นขายดีอย่าง ซู-30 แฟลงเคอร์ หรือ มิก-29 ฟัลครัม แต่ก็เป็นเครื่องบินขับไล่ยุค 4 ที่ผลิตออกมาจำหน่ายนานแล้ว

ข่าวแนะนำ

แต่ในฝั่งของเครื่องบินขับไล่ยุค 5 รัสเซียยังทำตลาดได้ไม่มากนัก แม้จะมียอดเครื่องบินขับไล่แห่งอนาคตอย่าง ซู-57 เฟอลอน (Su-57 Felon) หรือ T-50 Pak-FA ที่มีเข้าประจำการในกองทัพอากาศรัสเซีย ที่สมรรถนะ หรือ ภารกิจ เทียบชั้นได้กับ เอฟ-22 แร็พเตอร์ และ เอฟ-35 ไลท์นิงทู ของสหรัฐฯ กับเฉิงตู เจ-20 ของจีน แต่ที่ขายดีมีผู้ใช้งานหลายชาติ คือ เอฟ-35 ที่ส่วนหนึ่งเป็นการขายให้กับชาติที่ลงขันร่วมลงทุนพัฒนาในโครงการ ก็จะได้สิทธิ์ในการซื้อใช้งานไป แต่ชาติที่ไม่ได้ร่วมโครงการ เอฟ-35 ก็ต้องมองทางเลือกอื่น เช่น การพัฒนาเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 ของตัวเองแบบอังกฤษ ฝรั่งเศส ตุรกี หรือ เกาหลีใต้ เป็นต้น

ที่งาน MAKS 2021 แอร์โชว์ จัดขึ้นที่เมืองซูคอฟสกี้ ใกล้กรุงมอสโก บริษัทซูฮอย ผู้ผลิตเครื่องบินรบชั้นนำของรัสเซีย ได้เปิดตัวเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 รุ่นใหม่ ต่อสาธารณชนและสายตาชาวโลกครั้งแรก มันมีชื่อว่า ซู-75 เชคเมท (Su-75 Checkmate) เป็นเครื่องบินขับไล่ไอพ่นน้ำหนักเบา เครื่องยนต์เดี่ยว ที่อ้างว่ามีคุณลักษณะสเตลธ์ มาพร้อมเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ ทั้ง ระบบปัญญาประดิษฐ์ สามารถปฏิบัติงานผ่านระบบเครือข่ายข้อมูล ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลัง ระบบเรดาร์ตรวจจับแบบ AESA และ ใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถีและระเบิดได้หลายชนิด

ซูฮอยให้ข้อมูลว่า เครื่องบินรุ่นนี้ถูกผลิตออกมาเพื่อทำการตลาดส่งออกขายให้กับต่างชาติ อุปกรณ์บางอย่างบนเครื่องก็คล้ายคลึงกับเครื่องบิน ซู-57 เฟอลอน แต่มันถูกทำให้ราคาถูกและใช้งานง่ายกว่า โดยเบื้องต้นจากพรีเซนเทชั่นที่เปิดตัวของรอสเทค (Rostec) ได้ เสนอขายแก่ชาติที่คาดว่าจะมีโอกาสเป็นลูกค้า อาทิ ยูเออี เวียดนาม อินเดีย และ อาร์เจนตินา โดยมีกำหนดที่จะนำอากาศยานต้นแบบขึ้นทำการบินครั้งแรกในปี 2023 นี้

แม้ว่าตัวเครื่องบินที่นำมาแสดงภายในงานจะเป็นเพียงแค่แบบจำลองหรือ ม็อคอัพ แต่ก็มีหลายๆ ส่วนที่ให้ความรู้สึกสมจริง มีความเป็นไปได้ ใกล้เคียงกับข่าวหลุดที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า รัสเซียกำลังจะเปิดตัวเครื่องบินสเตลธ์รุ่นใหม่

การออกแบบ และคุณสมบัติทางเทคนิค

การออกแบบของ ซู-75 เช็กเมต มากับห้องนักบินพร้อมฝาประทุนที่รูปทรงเหมือนกับ ซู-57 เฟอลอน อย่างมากรวมทั้งระบบตรวจจับเป้าหมายด้วยอินฟราเรด (IRST) อันเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องรัสเซีย บริเวณด้านหน้ามีการติดท่อเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศที่เก็บไว้ได้ในลำตัว และตัวเครื่องที่เป็นทรงเพรียวแหลมคม ใต้ส่วนหัวมีท่อรับอากาศอยู่ด้านล่าง พร้อมเครื่องยนต์เทอร์โบแฟนแบบ Izdeliye 30 จำนวน 1 เครื่อง โดยเครื่องยนต์เจ็ตรุ่นนี้ ออกแบบมาสำหรับเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 และเป็น 1 ใน 2 ที่เลือกใช้เครื่องยนต์ชนิดนี้ต่อจาก ซู-57

จากการเปิดตัวเครื่องจำลองตัวอย่างในงาน ซู-75 เช็กเมต เครื่องรุ่นนี้ถูกออกแบบด้วยระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ทีมออกแบบนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้เต็มรูปแบบในการคำนวณด้านพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ (CFD หรือ Computational Fluid Dynamics) และการปรับค่าของพื้นที่หน้าตัดเรดาร์ (Radar Cross Section) ให้มีความสามารถลดการตรวจจับของเรดาร์ได้ อันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเครื่องบินที่ต้องการคุณลักษณะสเตลธ์ ทำให้ตัวเครื่องมีลักษณะเหมือนตัววี รวมไปถึงแพนหางดิ่งคู่ก็ตั้งเป็นรูปตัววีเช่นกัน

การปฏิบัติการของเครื่องบินได้รับการสนับสนุนโดยระบบโลจิสติกส์อัตโนมัติ (Automated Logistics System) ที่เรียกว่า มาโตรชกา (Matryoshka) ที่นำชื่อมาจากตุ๊กตาทำมือที่ทำจากไม้ เปรียบดั่งสัญลักษณ์ที่ชี้ว่า การประกอบรวมส่วนต่างๆ เข้ามารวมตัวซ้อนๆ กันทำได้ง่ายดาย เพราะทุกอย่างออกแบบเป็นโมดูลไว้แล้วนั่นเอง ในส่วนของระบบอิเล็กทรอนิกส์ของอากาศยาน ก็ถูกสร้างอยู่บนสถาปัตยกรรมแบบเปิด และใช้ระบบการวินิจฉัยที่ส่วนใหญ่อยู่บนเครื่องบิน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณอุปกรณ์ที่จำเป็นในสนามบินเพื่อบำรุงรักษาเครื่องบิน

ประสิทธิภาพโดยภาพรวม

เครื่องบินขับไล่เบา ซู-75 เช็กเมต ไม่ต่างจากเครื่องบนสเตลธ์ลำอื่นๆ ที่มีออกมาก่อนหน้า คือ จะมีช่องเก็บอาวุธในลำตัว ที่สามารถติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถี แบบเดียวกับ ซู-35 และ ซู-57 โดยข้อมูลเบื้องต้น ชี้ว่า สามารถแบกน้ำหนักไปได้ประมาณ 16,300 ปอนด์ รัศมีทำการด้วยถังเชื้อเพลิงในลำตัวอยู่ที่ไม่เกิน 1,800 ไมล์ และยังสามารถทำความเร็วได้สูงสุดราวๆ 2 มัคอีกด้วย มันถูกอ้างว่ามีขีดความสามารถในการบินขึ้นและลงโดยใช้ทางวิ่งระยะสั้น (STOL) อีกด้วย

ใครจะมีโอกาสเป็นลูกค้า

ในพรีเซนเทชั่นการเปิดตัว ชี้ให้เห็นว่าในตลาดเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 แบบเครื่องยนต์เดียวยังไม่มี เครื่องบินแบบ 1 เครื่องยนต์ลำใดที่มีราคาที่สมเห็ตุสมผล เอื้อมถึงได้ แน่นอนว่าลูกค้าของซู-75 เช็กเมต ก็คือประเทศที่ต้องการเครื่องบินสมรรถนะสูง ตรงกับความต้องการของกองทัพ แต่ไม่พร้อมที่จะควักกระเป๋าจ่ายค่าตัวอันมหาศาล โดยสนราคาค่าตัวน่าจะอยู่ราวๆ 25-30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจะออกมาทั้งในแบบรุ่น 1 ที่นั่ง 2 ที่นั่ง และ ไร้คนบังคับ รวมทั้งรุ่นที่ออกแบบสำหรับขึ้นและลงจอดบนเรือบรรทุกเครื่องบิน เพื่อเจาะตลาดอินเดีย ที่มองหาเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ทดแทนเครื่องบินแบบ มิก-29K

นายเดนนิส มาตูรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมรัสเซียทำงานในการพัฒนาเครื่องบินรบรุ่นใหม่นี้มากว่า 4 ปี เพื่อทำให้ Su-75 เป็นเครื่องบินรบที่สามารถจับตลาดได้เหมือนดั่งที่เครื่องบินขับไล่แบบ มิโกยัน กูเรวิช มิก-21ฟิชเบด เคยทำได้เมื่อ 60 ปีก่อน

นายยูริ บอริซอฟ รองนายกรัฐมนตรีของรัสเซีย กล่าวในฐานะผู้รับผิดชอบอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ กล่าวว่า ลูกค้าที่มีโอกาสของโครงการนี้ คือ อินเดีย เวียดนาม และ ประเทศในทวีปแอฟริกา

มองอนาคตและโอกาสที่เป็นไปได้

สื่อต่างชาติและผู้เชี่ยวชาญทางทหารก็ยังตั้งข้อสงสัยถึงความพร้อมของรัสเซียในการทำตลาดอุตสาหกรรมอาวุธ หลังจากผ่านพ้นวิกฤติระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระทบต่อความสามารถในการผลิต ว่ากำลังความสามารถการผลิตจะฟื้นคืนกลับสู่ปกติได้เร็วแค่ไหน เทคโนโลยีวัสดุผสมคอมโพสิตที่นำมาผลิตเครื่องบิน สามารถใช้งานได้จริงแล้วหรือยัง เพราะแล็บที่ใช้พัฒนาของรัสเซียยังถูกมองว่า วัสดุที่ถูกนำมาใช้ไม่น่าจะสามารถใช้งานได้จริง เหมือนกับที่ผลิตในสหรัฐฯ และยุโรป แต่อย่างไรก็ตามกว่า เครื่องบินลำจริงที่ประกองออกมาจากสายการผลิตก็น่าจะอีกหลายปี จึงยังมีเวลาในการพัฒนาเพิ่มเติมที่ไม่น่าเป็นปัญหา

ก็เป็นที่น่าจับตามองสำหรับการซุ่มเงียบเดินหน้าโครงการเครื่องบินสเตลธ์เบาจากทางรัสเซีย ที่ออกมาปักธงเครื่องบินขับไล่แห่งอนาคตที่ทำราคาให้ถูกลง เพิ่มโอกาสให้หลายๆ ชาติได้เอื้อมมือไปครอบครองเทคโนโลยีของอากาศยานเหล่านี้ ไปทดแทนเครื่องบินขับไล่รุ่นเก่าที่มีประจำการมาหลายสิบปี หรือ นำมาถ่วงดุลอำนาจกับเพื่อนบ้านที่มีเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 และจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับรัสเซีย จากอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศที่ใช้เทคโนโลยีไฮเทคอย่างยั่งยืน.

ผู้เขียน : โมบิอุส 

ที่มาข้อมูล : breakingdefense.com

              : flightglobal.com

              : rt.com

              : airforcemag.com

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( โชว์โลกเห็น ซู-75 เช็กเมต เจ็ตขับไล่สเตลธ์ใหม่รัสเซีย มีดีไม่เบาตามตัว - ไทยรัฐ )
https://ift.tt/3ACFgEr
แกดเจ็ต

Bagikan Berita Ini

0 Response to "โชว์โลกเห็น ซู-75 เช็กเมต เจ็ตขับไล่สเตลธ์ใหม่รัสเซีย มีดีไม่เบาตามตัว - ไทยรัฐ"

Post a Comment

Powered by Blogger.