Search

ส่องชะตาอีเวนต์กีฬา 2021 โอลิมปิก-ยูโร แนวโน้มเป็นอย่างไร - ประชาชาติธุรกิจ

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ท่ามกลางวิถีชีวิตที่หา “ความแน่นอน” ได้ยาก คนทั่วโลกก้าวเข้าสู่ปี 2021 ด้วยความคาดหวังหลากหลายรูปแบบ สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือ “ความไม่แน่นอน” ที่จะเกิดขึ้นในปี 2021 นี้ สำหรับโลกกีฬาในปีนี้อาจแตกต่างจากกลุ่มอื่นบ้าง ตรงที่เป็นปีที่มีโปรแกรมมหกรรมกีฬาระดับโลกหลายรายการที่ถูกเลื่อนมาจัดในปี 2021

ถึงจะมีโปรแกรมออกมาให้เห็นแล้ว แต่ความเป็นจริงอีกด้าน คือ ไม่มีใครยืนยันได้เต็มปากว่า สถานการณ์จะราบรื่นให้การแข่งขันต่าง ๆ เดินหน้าไปได้ดังใจหวัง สิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุด คือหวังว่าสถานการณ์จะไม่เลวร้ายไปกว่าเดิม เพราะในปีนี้จะมีทั้ง โอลิมปิก (และพาราลิมปิก) ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และ ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งทวีปยุโรป หรือยูโร ซึ่งต่างเลื่อนมาจากปี 2020 ทั้งคู่

โปรแกรมใหม่ของโอลิมปิก ถูกกำหนดให้เริ่มต้นในวันที่ 23 กรกฎาคม 2021 ไปจนถึง 8 สิงหาคม เดิมทีนั้น คณะกรรมการโอลิมปิกสากล และญี่ปุ่น ประเทศเจ้าภาพตัดสินใจเลื่อนโอลิมปิกออกไปหนึ่งปี โดยหวังว่าระยะเวลาอีกร่วมปี สถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลาย เวลาผ่านมาจนเหลืออีกราวครึ่งปี สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงในหลายประเทศ

ตัวเลขผู้ติดเชื้อในยุโรปและสหรัฐอเมริกายังทำสถิติต่อเนื่องกันจนถึงสัปดาห์แรกของปี 2021 ขณะที่อังกฤษยังต้องรับมือกับโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ ในญี่ปุ่นเองก็มีรายงานการค้นพบเคสผู้ติดเชื้อโควิดที่กลายพันธุ์ในช่วงปลายปี 2020 ตามมาด้วยมาตรการคุมเข้ม ห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศจนถึงปลายเดือนมกราคม เพื่อป้องกันประชาชนภายในประเทศก่อน และอาจตามมาด้วยมาตรการระลอกใหม่หลังจากพบตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น

รายงานข่าวจากสื่อท้องถิ่นในแดนซามูไรยังยอมรับว่า ถึงฝ่ายทางการของเจ้าภาพและผู้จัดการแข่งขันจะมองสถานการณ์เป็นบวก แต่ความคิดเห็นของสาธารณชนเริ่มเสียงแตก และเห็นว่าทางเลือกที่สมควรพิจารณาควบคู่กัน คือการเลื่อนมหกรรมออกไปอีกครั้ง หรือแม้แต่ทางเลือกข้อสุดท้ายอย่างการยกเลิกการแข่งไปเลย ผลการสำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างที่จัดโดย NHK เมื่อธันวาคม 2020 ออกมาว่า กลุ่มผู้ตอบคำถาม 32% เห็นว่า ควรยกเลิกไปเลย อีก 31% เห็นว่าควรเลื่อนอีกครั้ง และอีก 27% เห็นควรเดินหน้าจัดต่อตามกำหนดการในปีนี้

หากย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ราวเดือนพฤศจิกายน 2020 สัญญาณจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากลที่เดินทางมาตรวจเยี่ยมโตเกียวยังออกมาเป็นบวก นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเชื่อมั่นว่า ทางการมีมาตรการรองรับและสามารถจัดการแข่งขันที่ปลอดภัยได้ แต่เมื่อมาถึงต้นปี 2021 สถานการณ์โควิด-19 ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความเสี่ยงของเชื้อกลายพันธุ์ที่พบในญี่ปุ่นแล้ว เชื่อว่าทางการญี่ปุ่นและผู้จัดการแข่งขันเจอปัญหาน่าปวดหัวเข้าอีกระลอก โดยเดิมทีแล้วพวกเขามีกำหนดการแถลงเรื่องมาตรการในการแข่งขันเพิ่มเติม

เชื่อกันว่าหากญี่ปุ่นไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เริ่มน่าเป็นห่วงตั้งแต่ต้นปี 2021 แนวโน้มของโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวก็ยังน่าเป็นห่วง

ไม่เพียงแค่เรื่องมาตรการควบคุมทางสาธารณสุขเท่านั้น ปมที่สำคัญอีกประการคืองบประมาณในการจัดก็เป็นอีกเรื่องที่น่ากังวล ผู้จัดการแข่งขันแถลงเมื่อปลายปี 2020 ว่า งบประมาณอันเกี่ยวข้องกับการจัดโอลิมปิกเพิ่มขึ้นราว 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนที่เพิ่มมามีงบประมาณสำหรับมาตรการควบคุมโรคระบาดเป็นจำนวน 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมอยู่ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าจำนวนที่เพิ่มขึ้นนั้นต้องพึ่งพากำลังทรัพย์ของผู้เสียภาษี

Photo by JUSTIN TALLIS / AFP

สำหรับอีเวนต์กีฬามหาชนอีกรายการอย่างยูโร 2020 ที่เลื่อนมาแข่งในช่วงวันที่ 11 มิถุนายน ถึง 11 กรกฎาคม โปรแกรมรอบรองชนะเลิศ และชิงชนะเลิศ จะลงเตะที่สนามเวมบลีย์ ในอังกฤษ ขณะที่เวลานี้อังกฤษก็เผชิญสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก โรงพยาบาลหลายแห่งดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ยูโรครั้งนี้ลงแข่งกระจายทั่วทวีป มีเกมแข่งใน 12 ประเทศ หลายประเทศยังอยู่ในสภาพพยายามควบคุมการระบาดอยู่ และมีแนวโน้มว่าแฟนบอลจำนวนไม่น้อยจะเลือกชมเกมผ่านหน้าจอ

ส่วนกีฬาที่น่าสนใจอื่น ๆ ทั้งกอล์ฟ และเทนนิส ในรายการระดับเมเจอร์ หรือแกรนด์สแลมในฝั่งเทนนิส ต่างมีโปรแกรมกลับมาแข่งขันกัน เทนนิสวิมเบิลดันที่ยกเลิกในปี 2020 มีกำหนดการกลับมาแข่งอีกครั้งในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ปี 2021 จนถึงสัปดาห์แรกของปี 2021 ฝ่ายจัดยังไม่ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงใด ๆ แม้ว่าสถานการณ์การระบาดในสหราชอาณาจักรจะยังน่าเป็นห่วงดังที่กล่าวข้างต้น ส่วนแกรนด์สแลมแรกของปีอย่างออสเตรเลียน โอเพ่น ก็มีกำหนดแข่งที่เมลเบิร์น ในเดือนกุมภาพันธ์

หากดูข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ตามความเป็นจริงแล้ว ภาครัฐและประชาชนหลายประเทศเผชิญหน้าสถานการณ์น่าเป็นห่วง หลายฝ่ายมองว่า 3 เดือนแรกของปีคือช่วงเวลาสำคัญที่จะบ่งชี้ว่า มหกรรมกีฬาระดับทวีปและระดับโลกจะยังเหมาะสมสำหรับการเดินหน้าต่อไปตามกำหนดการที่ปรับมาแล้วหรือไม่ ปัจจัยสำคัญไม่เพียงแค่มาตรการจากฝ่ายรัฐเองเท่านั้น ส่วนหนึ่งคือการปฏิบัติตัวของประชาชนในแต่ละพื้นที่ด้วย เชื่อว่าความหวังยังมีอยู่เสมอตราบใดที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง และเห็นอกเห็นใจกันอย่างเท่าเทียม

Let's block ads! (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( ส่องชะตาอีเวนต์กีฬา 2021 โอลิมปิก-ยูโร แนวโน้มเป็นอย่างไร - ประชาชาติธุรกิจ )
https://ift.tt/3nq463f
กีฬา

Bagikan Berita Ini

0 Response to "ส่องชะตาอีเวนต์กีฬา 2021 โอลิมปิก-ยูโร แนวโน้มเป็นอย่างไร - ประชาชาติธุรกิจ"

Post a Comment

Powered by Blogger.