Search

หนึ่งเดียวในโลก! “กิ้งกือมังกรสีชมพู” อวดโฉมแปลกตาปีละครั้งที่ “หุบป่าตาด” อุทัยธานี - ผู้จัดการออนไลน์

planetyugie.blogspot.com

กิ้งกือมังกรสีชมพู หุบป่าตาด (ภาพ : เพจ ปชส.กรมอุทยานแห่งชาติฯ)
กรมอุทยานแห่งชาติฯ เผยภาพ “กิ้งกือมังกรสีชมพู” แห่งหุบป่าตาด จ.อุทัยธานี สัตว์สายพันธุ์หายากพบหนึ่งเดียวในโลกที่เมืองไทย ซึ่งแต่ละปีจะปรากฏกายอวดโฉมในช่วงฤดูฝน-ต้นหนาว เท่านั้น

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” เผยภาพตัวเป็น ๆ ของ “กิ้งกือมังกรสีชมพู” สัตว์สายพันธุ์หายากพบหนึ่งเดียวในโลกที่เมืองไทย ที่กำลังเดินอวดโฉมความงามที่ “หุบป่าตาด” แหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์เลื่องชื่อของ จ.อุทัยธานี

กิ้งกือมังกรสีชมพู หุบป่าตาด (ภาพ : เพจ ปชส.กรมอุทยานแห่งชาติฯ)
โดยกรมอุทยานฯ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ“กิ้งกือมังกรสีชมพู” ลงในเพจ “ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” ดังนี้

“กิ้งกือมังกรสีชมพู 1 เดียวในโลก ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน”

ช่วงปลายฝนต้นหนาว ที่หุบป่าตาด ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน ในพื้นที่อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี มีหนึ่งสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์หายาก ซึ่งพบในประเทศไทยและที่หุบป่าตาดเพียงแห่งเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ ”กิ้งกือมังกรสีชมพู” ที่จะเผยตัวให้นักท่องเที่ยวได้เห็นเพียงปีละครั้งเท่านั้น

“กิ้งกือมังกรสีชมพู” สิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ ที่ถูกการันตีด้วยการประกาศให้เป็นสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ในอันดับที่ 3 ของโลก จากมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในด้านความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก

ที่ได้ชื่อว่า “กิ้งกือมังกรสีชมพู” นั้น เพราะอยู่ในวงศ์กิ้งกือมังกร (พาราดอกโอโซมาติเดีย) บวกกับสีชมพูสดใส และยังมีลักษณะเด่นด้วยลวดลายและปุ่มหนาคล้ายมังกร เมื่อโตเต็มวัยจะมีลำตัวยาว 7 ซม. มี 20 - 40 ปล้อง ที่สำคัญและต้องระวังสำหรับนักท่องเที่ยวคือ สามารถขับสารพิษประเภทไซยาไนด์ เพื่อป้องกันตัวได้อีกด้วย

การเข้าไปชมกิ้งกือมังกรสีชมพู สามารถชมได้ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - พฤศจิกายน ขึ้นอยู่กับความชุ่มชื้นของผืนป่า

#กิ้งกือมังกรสีขมพู #เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน #กรมอุทยาน #prdnp #dnp1362 #dnp

กิ้งกือมังกรสีชมพู หุบป่าตาด (ภาพ : เพจ ปชส.กรมอุทยานแห่งชาติฯ)
สำหรับ “กิ้งกือมังกรสีชมพู” (Shocking pink millipede) เจ้าสัตว์ประหลาดหนึ่งเดียวในโลกที่พบแห่งแรกที่หุบป่าตาดแห่งนี้ ถูกค้นพบโดยสมาชิกในชมรมคนรักกิ้งกือ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 พบครั้งแรกที่หุบป่าตาด เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จังหวัดอุทัยธานี

เดิมกิ้งกือมังกรสีชมพูพบในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลกที่หุบป่าตาดเท่านั้น แต่ล่าสุดมีรายงานว่าพบเจ้ากิ้งกือมังกรสีชมพูที่ผืนป่าในจังหวัดกำแพงเพชรด้วย

หลังการค้นพบ ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ได้นำมาศึกษาภายใต้โครงการวิจัยกิ้งกือและไส้เดือนดิน และร่วมกับ ศ.เฮนริค อิงฮอฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิ้งกือชนิดใหม่ของโลก และให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Desmoxytes purpurosea และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนานาชาติ ซูแทกซา (Zootaxa) ตั้งแต่ปี 2550

กิ้งกือมังกรสีชมพู พบที่เมืองไทย หนึ่งเดียวในโลก
กระทั่งเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 สถาบันไอไอเอสอี (International Institute for Species Exploration : IISE) มหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ประกาศให้กิ้งกือมังกรสีชมพู เป็นสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากการค้นพบปลากระเบนไฟฟ้าในแอฟริกา และการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ปากเป็ดอายุ 75 ล้านปี ในสหรัฐอเมริกา

นับเป็นอีกหนึ่งการค้นพบในแวดวงธรรมชาติวิทยาของบ้านเราที่สำคัญยิ่งของบ้านเรา

ตัวอ่อนของกิ้งกือมังกรสีชมพู
ส่วนเหตุที่เจ้าสัตว์ชนิดนี้ได้ชื่อว่า “กิ้งกือมังกรสีชมพู” นั้นก็เพราะว่ามันอยู่ในวงกิ้งกือมังกร หรือ พาราดอก โซโซมาติดี โดยตัวของมันมีสีชมพูสดใสแบบช็อกกิ้งพิงค์ และมีลักษณะโดดเด่นด้วยลวดลายและปุ่มหนามคล้ายมังกร

กิ้งกือมังกรสีชมพู พบได้ในป่าที่มีความชุ่มชื้นสูงและอุดมสมบูรณ์ เมื่อโตเต็มวัยจะมีลำตัวยาวประมาณ 7 เช็นติเมตร มีจำนวนปล้องราว 20-40 ปล้อง และสามารถปล่อยสารประเภทไซยาไนต์ออกมาจากต่อมขับสารพิษข้างลำตัวเพื่อป้องกันตัวเองจากศัตรูธรรมชาติจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู เป็นต้น

หุบป่าตาด อันซีนไทยแลนด์แห่งอุทัยธานี
ส่วน “หุบป่าตาด” เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ถูกยกให้เป็นหนึ่งในอันซีนไทยแลนด์ ถือเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติยอดนิยมของ จ.อุทัยธานี

หุบป่าตาด มีลักษณะคล้ายป่าดึกดำบรรพ์ที่อุดมไปด้วย “ต้นตาด” หรือ “ต้นต๋าว” (Arenga pinrata) พืชตระกูลปาล์ม มีใบเป็นแฉกแผ่กว้างสยาย ชอบขึ้นในพื้นที่ป่าดงดิบที่มีอากาศเย็นชื้นสภาพหนาทึบ

ขณะที่ภายในหุบป่าตาดนั้นมีลักษณะเป็น “หลุมยุบ” ที่ดูคล้ายถ้ำขนาดใหญ่ นักท่องเที่ยวต้องเดินผ่านอุโมงค์ทางเข้าที่เป็นดังอุโมงค์แห่งกาลเวลา ซึ่งเมื่อเข้าไปในถ้ำแล้วจะพบกับบรรยากาศของป่าดึกดำบรรพ์ที่อุดมไปด้วยต้นตาดจำนวนมาก

ต้นตาดจำนวนมากในหุบป่าตาด
นอกจากนี้ภายในหุบป่าตาดยังมีโถงถ้ำขนาดใหญ่ที่เพดานถ้ำพังถล่มลงมาเกิดเป็นช่องแสงส่องสวยงามอยู่ตรงกลางพื้นที่ เป็นดังประตูเชื่อมระหว่างผืนป่าตาดในหุบด้านหน้าและหุบด้านใน

โถงถ้ำกลางหุบเขาช่วงนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของหุบป่าตาดที่หินงอกหินย้อยอันสวยงามปรากฏอยู่ทั่วไป แม้หินส่วนใหญ่จะเป็นหินตาย แต่ก็ยังคงมีหินเป็นบางส่วนที่กำลังเกิดเติบโตขึ้นมา เป็นหินปูนสีขาวกำลังหยดย้อยลงมาดูน่ายลไม่น้อย

โถงถ้ำไฮไลท์ในหุบป่าตาด
และสำหรับใครที่ไปเที่ยวหุบป่าตลาดในช่วงฤดูฝน-ต้นหนาว ราวเดือนพฤษภาคม – พฤศจิกายน ไม่ควรพลาดการสอดส่ายสายตาหา “กิ้งกือมังกรสีชมพู” หนึ่งเดียวในโลกด้วยประการทั้งปวง





September 05, 2020 at 04:03PM
https://ift.tt/3lUzcAk

หนึ่งเดียวในโลก! “กิ้งกือมังกรสีชมพู” อวดโฉมแปลกตาปีละครั้งที่ “หุบป่าตาด” อุทัยธานี - ผู้จัดการออนไลน์

https://ift.tt/3cN12d5


Bagikan Berita Ini

0 Response to "หนึ่งเดียวในโลก! “กิ้งกือมังกรสีชมพู” อวดโฉมแปลกตาปีละครั้งที่ “หุบป่าตาด” อุทัยธานี - ผู้จัดการออนไลน์"

Post a Comment

Powered by Blogger.