นิวเคลียร์ร้ายกว่าบึ้มเบรุตหลายเท่า และโลกเรามีเป็นหมื่นลูก
วันที่ 07 ส.ค. 2563 เวลา 19:56 น.
สัปดาห์นี้โลกของเรารำลึก 75 ปีของการระเบิดของนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมา และบังเอิญที่เกิดวินาศภัยในเบรุตพอดี สองเหตุการณ์นี้ไม่เกี่ยวกัน แต่ทำให้เราต้องตระหนักในสิ่งเดียวกัน นั่นคือการทำลายล้างจากน้ำมือมนุษย์
เหตุระเบิดที่เบรุตมีระดับความรุนแรง 1.1 - 2.75 กิโลตัน (จากปริมาณแอมโมเนียไนเตรทประมาณ 2,750 ตัน) สร้างแรงสั่นสะเทือนประมาณ 3.3 - 4.5 แมกนิจูด และมีพยานกล่าวว่าสร้างความเสียหายไกลถึง 10 กิโลเมตร ส่วนแรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้ไกลถึงเกาะไซปรัสที่อยู่ห่างออกไป 240 กิโลเมตร
ภาพที่หลายคนเห็นคือระเบิดที่พลังทำลายล้างมหาศาลและเกิดกลุ่มควันรูปดอกเห็ดเหมือนกับระเบิดนิวเคลียร์ จึงไม่น่าแปลกใจที่นายกเทศมนตรีกรุงเบรุตจึงเอ่ยว่ามันเหมือนกับการทำลายล้างของนิวเคลียร์
วัตถุระเบิดแต่ละชนิดมีค่าเปรียบเทียบกำลัง (Relative effectiveness factor หรือ RE) เวลาเปรียบเทียบจะใช้ระเบิด TNT มาเทียบโดยให้ค่า 1.0 RE ในส่วนของแอมโมเนียไนเตรตมีค่ากำลังน้อยที่สุดคือ 0.42 RE
ขณะที่ระเบิดนิวเคลียร์มีค่ากำลังหลักพันจนถึงหลักล้าน เช่น ระเบิด Little Boy ที่ทำลายเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1945 มีพลังงานเท่ากับ 15 กิโลตัน มีค่าเปรียบเทียบกำลังประมาณ 4,000 RE หรือมากกว่าระเบิดที่เบรุต 10 - 20 เท่า
สิ่งที่แตกต่างกันคือระเบิดจากแอมโมเนียไนเตรตมีแค่แรงอัด (ซึ่งก็ยังน้อยที่สุดในบรรดาวัตถุระเบิดด้วยกัน) ส่วนนิวเคลียร์มีลูกไฟและไอร้อน และแม้ว่าจะรอดชีวิตจากแรงอัดและไอร้อนมาได้ก็ยังมีกัมมันตรังสีและฟอลเอาท์ที่จะฆ่าคนแบบผ่อนส่ง
ระเบิดที่เบรุตเป็นการระเบิดครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ครั้งก่อนหน้านี้เกิดขึ้นที่เทียนจินเมื่อปี 2015 พื้นที่เสียหายมีรัศมี 2 - 4 กิโลเมตร แต่มันไม่ได้เกิดใจกลางเมืองเหมือนกรณีเบรุต ครั้งสุดท้ายที่เหตุแบบนี้เกิดขึ้นในกลางเมืองคือ การระเบิดของวัตถุระเบิดที่เมืองฮาลิแฟกซ์ รัฐโนวาสโกเชีย ประเทศแคนานา เมื่อปี 1917 รัศมีการทำลาย 2.9 กิโลเมตร
ดังนั้นระเบิดที่เบรุตจึงเป็นเหมือนคำเตือนให้มนุษยชาติตระหนักถึงภัยจากการทำลายล้างของนิวเคลียร์ เราสามารถเทียบเคียงได้ว่าถ้าเกิดสงครามครั้งใหญ่และมีการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ ผลที่จะเกิดขึ้นจะคล้ายๆ กับเบรุต เพียงแต่ผู้เสียชีวิตจะมากมายหลายเท่าตัว
เหตุการณ์ที่เบรุตยังเกิดขึ้น 2 วันก่อนวันครบ 75 ปีของการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา ซึ่งถือเป็นเป็นเรื่องบังเอิญที่ลงตัว เพราะมันช่วยให้มนุษยชาติตระหนักถึงภัยจากการทำลายล้างได้มากขึ้นโดยใช้กรณีเบรุตเป็นเครื่องเตือนใจเรา
เพราะมนุษยชาติเหินห่างจากสงครามใหญ่มากนานเกือบศตวรรษแล้ว แต่มันเริ่มจะมีสัญญาณที่ไม่น่าไว้ใจมากขึ้นในระยะหลังจากการเผชิญหน้าของมหาอำนาจประเทศต่างๆ
ปัจจุบันมีเว็บไซต์ที่ให้บริการข้อมูลจำลองเหตุการณ์การถล่มด้วยอาวุธนิวเคลียร์ในชื่อ NUKEMAP ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถสร้างภาพจำลองความเสียหายจากการทิ้งระเบิดสมรรถนะต่างๆ ที่ผลิตโดยชาติที่มีอาวุธดังกล่าวในครอบครอง และกำหนดจุดศูนย์กลางการทำลายล้างหรือ Ground zero ผ่านทาง Google Map
เพื่อให้เห็นภาพได้ง่ายว่าความเสียหายในเบรุตว่าควรจะมีมากแค่ไหนหากระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นนิวเคลียร์ขนาดเล็กที่สุดและหากเป็นระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมา ดังนั้น ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์เอ็กซ์คลูซีฟจึงต้องพึ่งแบบจำลองออนไลน์ที่น่าจะให้ผลใกล้เคียงที่สุดกับการระเบิดที่เบรุต และทำการจำลองเหตุการณ์ในเมืองต่างๆ รวมถึงกรุงเทพฯ ในกรณีที่เกิดการระเบิดในลักษณะเดียวกัน
1. หากการระเบิดที่เบรุตเป็นระเบิดนิวเคลียร์ขนาด 1.1 กิโลตัน (ปริมาณเท่ากับแอมโมเนียไนเครตที่คลังท่าเรือ) จะเกิดลูกไฟขนาด 80 เมตร (วงสีเหลือง) ทุกสิ่งทุกอย่างในรัศมีนี้จะถูกเผาจนเป็นไอไปจนหมดสิ้น ไอความร้อนมีรัศมี 520 เมตร (วงสีส้ม) ผู้ที่อยู่ในเขตนี้จะมีแผลไหม้ระดับสาม แต่จะไม่รู้สึกอะไรเพราะไหม้เส้นประสาทไปหมด และอาจสูญเสียอวัยวะไป รัศการทำลายในระยะ 1.21 กิโลเมตรกระจกจะแตกและผู้คนได้รับบาดเจ็บ
2. หากเกิดระเบิดที่กรุงเทพฯ โดยเป็นระเบิดนิวเคลียร์เท่ากับ Little Boy ที่ถล่มเมืองฮิโรชิมา (ขนาด 15 กิโลตัน) โดยหย่อนลงที่สาธรและสีลม จะเกิดลูกไฟขนาด 180 เมตร (วงสีเหลือง) ทุกสิ่งทุกอย่างในรัศมีนี้จะถูกเผาจนเป็นไอไปจนหมดสิ้น พื้นที่กัมมันตรังสี 1.2 กิโลเมตร (วงสีเขียว) ผู้ที่อยู่ในวงนี้แม้จะรอดแต่จะค่อยๆ ตายเพราะกัมมันตรังสี ไอความร้อนมีรัศมี 1.91 เมตร (วงสีส้ม) ผู้ที่อยู่ในเขตนี้จะมีแผลไหม้ระดับสาม รัศมีการทำลายในระยะ 4.52 กิโลเมตร ทำให้เกิดกระจกแตก และเนื่องจากการระเบิดจะเกิดแสงขึ้นมาก่อน ทำให้ผู้คนที่สงสัยเดินเข้ามาใกล้หน้าต่างจนได้รับบาดเจ็บจากเศษกระจกที่จะแตกเป็นเสี่ยงจากแรงอัดที่ตามมาทีหลัง (เหมือนกับคลิปการระเบิดที่เบรุต)
3. หากศูนย์กลางการระเบิดที่นิวยอร์กถูกระเบิดนิวเคลียร์ที่มีสมรรถนะต่ำที่สุดของสหรัฐ คือ M-29 Davy Crockett ความรุนแรง 20 ตัน จะกินพื้นที่ความเสียหายเพียง 9-10 บล็อกหรือช่วงถนน แต่หากทดสอบแบบจำลองโดยใช้ระเบิดนิวเคลียร์ที่มีอานุภาพรุนแรงที่สุดในโลก คือ Tsar Bomba พื้นที่ความเสียหายจะครอบคลุมไปถึงรัฐนิวเจอร์ซีย์ คอนเนตทิคัต และเพนซิลเวเนีย ส่วนนครนิวยอร์กจะถูกทำลายไม่เหลือซาก ในรัศมี 6.1 กิโลเมตรจะถูเผาทำลายเป็นไอ ประชาชนในรัศมี 73.7 กม. จะถูกไฟคลอกระดับ 3
ปัจจุบันโลกของเรามีหัวรบนิวเคลียร์ที่ใช้งานอยู่ประมาณ 3,750 หัวจากหัวรบนิวเคลียร์ทั้งหมด 13,890 หัวในโลก เทียบกับช่วงที่มีมากที่สุดคือปี 1986 มีถึง 70,300 หัว
แต่อาวุธที่ปลดประจำการจำนวนมากถูกเก็บไว้อย่างง่ายๆ หรือถูกรื้อถอนเพียงบางส่วน ไม่ได้ถูกทำลายไป ดังนั้นในแง่หนึ่งมันจึงเป็นการเก็บอาวุธนิวเคลียร์แบบขอไปที
เหมือนกับรอเวลาให้โลกของเรามีวิกฤตความขัดแย้งอีกครั้งแล้วนำมันมาออกมาเพื่อข่มขู่กันอีกครา
August 07, 2020 at 07:57PM
https://ift.tt/33wJUX8
นิวเคลียร์ร้ายกว่าบึ้มเบรุตหลายเท่า และโลกเรามีเป็นหมื่นลูก - โพสต์ทูเดย์
https://ift.tt/3cN12d5
Bagikan Berita Ini
0 Response to "นิวเคลียร์ร้ายกว่าบึ้มเบรุตหลายเท่า และโลกเรามีเป็นหมื่นลูก - โพสต์ทูเดย์"
Post a Comment