เมื่อสองมหาอำนาจอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ ในเวลานี้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แล้วว่าอเมริกันกับจีนต้องชนกันแน่ๆ แค่รอเวลาเท่านั้นว่าการปะทะกันจะเกิดขึ้น เมื่อไร? และที่ไหน?
ถึงแม้ว่าเราจะมองการแย่งชิงความเป็นหนึ่งระหว่างสหรัฐกับจีนว่าเหมือนสงครามเย็นครั้งใหญ่ แต่เงื่อนไขมันต่างจากสงครามเย็นระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียตอย่างมาก ในเวลานั้นทั้ง 52 ประเทศมีรัฐบริหารที่คอยเป็นกันชน เมื่อสองยักษ์ถูกบีบให้ต้องปะทะกันก็มักจะถ่ายแรงมาที่ประเทศบริวารกลายเป็นสงครามตัวแทน (Proxy war) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามโลก
การปะทะกันของสองมหาอำนาจจึงไม่จำเป็นต้องการเป็นรบกันเอง
แต่ตอนนี้สหรัฐไม่มีรัฐบริวารและจีนก็ไม่มี ทั้ง 2 ฝ่ายมีแต่พันธมิตรที่เหนียวแน่นไม่กี่กลุ่มที่ไม่ยอมเป็นเบี้ยหมากหรือสนามรบตัวแทน ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดกรณี "ช้างชนช้าง" มีสูงมาก
มันเป็นธรรมชาติของการเมืองโลกที่ไม่เหนือความคาดเดา เพราะโลกของเราแม้จะใหญ่แค่ไหน แต่ไม่เคยมีพื้นที่พอให้เสือสองตัวอยู่ร่วมถ้ำเดียว หรือหมาป่าจะมีจ่าฝูงสองตัวไม่ได้
แกรฮ์ม ที. แอลลิสัน (Graham T. Allison) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเป็นผู้เสนอ ทฤษฎีกับดักของทูคิวดีเดส (Thucydides’ trap) เพื่อเตือนเราว่าเมื่อมหาอำนาจใหม่เกิดขึ้น มหาอำนาจเดิมจะ รู้สึกร้อนเนื้อร้อนตัวจนอยู่เฉยไม่ได้ ทั้งสองจะถูกสถานการณ์บีบให้ต้องรบกันในที่สุด
แนวคิดนี้มาจากงานเขียนของนักประวัติศาสตร์กรีกโบราณ ชื่อว่า ทูคิวดีเดส (Thucydides อังกฤษออกเสียงว่า ทิวซีดีดีส) เขาบันทึกการสงครามระหว่างนครรัฐกรีกโบราณในหนังสือประวัติศาสตร์สงครามคาบสมุทรเพโลพอนเนเซียน (History of the Peloponnesian War)
หัวใจของประวัติศาสตร์ตอนนี้ คือการผงาดขึ้นมามีอำนาจของนครรัฐเอเธนส์จนกระทั่งบีบให้มหาอำนาจอีกแห่งคือนครรัฐสปาร์ตาไม่อาจนิ่งเฉยได้ ในที่สุดทั้ง 2 ฝ่ายก็ต้องเผชิญหน้ากันและนำไปสู่สงครามครั้งใหญ่ ทั้งๆ ที่เอเธนส์และสปาร์ตาต่างคนต่างอยู่ก็ได้ แต่เพราะภาวะบีบบังคับทางการเมือง ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเริ่มสงครามเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง เข้าทำนองว่า เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้
ธูคูดีเดส กล่าวไว้ว่า "เป็นเพราะการผงาดขึ้นมาอำนาจของเอเธนส์และเพราะความกลัวของฝ่ายสปาร์ตาเองทำให้สงครามไม่อาจหลีกเลี่ยงได้" ถ้อยความนี้กลายเป็นหลักพิจารณาความเสี่ยงของสงครามระหว่าง 2 มหาอำนาจ เรียกว่ากับดักของทูคิวดีเดส
ทูคิวดีเดสบันทึกว่าก่อนที่สปาตาร์จะรบกับเอเธนส์มีนักการทูตนักวาทะศิลป์โน้มน้าวให้สปารร์ตารบเหมือนกัน แต่ที่สปาร์ตารบไม่ใช่เพราะถูกกล่อม แต่เพราะความกลัว เพราะในเวลานั้นใครๆ ก็หันไปคบกับเอเธนส์กันหมด ทิ้งให้มหาอำนาจเดิมอยู่หัวเดียวกระเทียมลีบ
สถานการณ์แบบนี้คล้ายกับสหรัฐในช่วงทศวรรษที่ 2010s ที่ค่อนข้างโดดเดี่ยวตัวเองจากพันธมิตรเดิม และทอดทิ้งอาเซียน และไม่สนใจแอฟริกา ขณะที่จีนใช้นโบายผูกมิตรกับแอฟริกา เข้าหาอาเซียน และซื้อใจยุโรปที่บางประเทศที่มีปัญหาเรื่องการเงิน
แต่สหรัฐโชคดีตรงที่ประเทศอื่นๆ ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะคบจีนเป็นเพื่อนได้โดยไม่มีปัญหากระทบกระทั่ง เพราะเพื่อนที่ใกล้ที่สุดของจีนคืออาเซียนจีนยังหาเรื่องทะเลาะได้จากกรณีพิพาทน่านน้ำทะเลจีนใต้ ดังนั้นการผงาดของจีนจึงไม่สมบูรณ์แบบ และสหรัฐก็ไม่ได้ขยับอะไรมาก
มื่อผู้นำจีนกับสหรัฐพบกันทั้งในสมัยที่สีจิ้นผิงพบกับบารัก โอบามาและเมื่อพบกับโดนัลด์ ทรัมป์ก็ยังแสดงท่าทีเป็นมิตรไมตรีให้ชาวโลกเชื่อว่าการผงาดของจีนไม่เป็นภัย (ต่อสหรัฐ) และ "เสือสองตัวอยู่ร่วมถ้ำเดียวกันได้"
ดังนั้นโลกจึงอยู่ในภาวะสุญญากาศแห่งอำนาจมาระยะหนึ่ง และมันชัดจนถึงขนาดที่นักรัฐศาสตร์หลายคนไม่เชื่อทฤษฎีกับดักของทูคิวดีเดส หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้บางคนไม่เชื่อก็เพราะตราบใดที่อเมริกันรู้สึกว่าจีนไม่ใช่ภัยคุกคามและเห็นว่าการผงาดของจีนไม่ใช่การเขี่ยสหรัฐให้ตกขอบ ตราบนั้นก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลุยกับจีน
มีการศึกษาโดยปีเตอร์ กริส (Peter Gries) แห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์กับ จิงอี้หมิง (Yiming Jing) แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน โดยให้ชาวอเมริกันชมคลิปข่าวของ CNN เกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์จีนสหรัฐ คลิปหนึ่งบรรยายโดยให้ภาพว่าจีนจะครอบงำสหรัฐและอีกคลิปบรรยายว่าการผงาดของจีนเป็นคุณกับสหรัฐ ปรากฎว่าชาวอเมริกันมีปฏิกริยาต่อต้านจีนหากสื่อให้ภาพจีนว่าเป็นคู่แข่ง
ดังนั้นการนำเสนอของสื่อจึงมีพลังมากในการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนอเมริกัน และในช่วงที่เกิดสุญญากาศอำนาจดูเหมือนว่าสื่อจะไม่ให้ภาพจีนน่ากลัวมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะผู้นำสหรัฐคนก่อนๆ เห็นว่าการผงาดของจีนเป็นคุณประโยชน์ต่อสหรัฐในบางเรื่อง
แต่เป็นเรื่องยอกย้อนตรงที่ เงื่อนไขการเผชิญหน้าในอนาคตก็คือเงื่อนไขในอดีตที่ทำให้ทั้งสองยักษ์ไม่กล้าเผชิญหน้าในยุคสุญญากาศอำนาจนั่นเอง เพียงแต่มีคนช่วยพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเท่านั้น
กล่าวคือแกรฮ์ม ที. แอลลิสันเจ้าของทฤษฎีกับดักของทูคิวดีเดสบอกว่า สาเหตุที่สองยักษ์จะไม่รบกันก็เพราะทั้งสองประเทศจะวุ่นวายกับกิจการภายในของตัวเอง จีนจะวุ่นวายกับการรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนไม่ท้าทายรัฐบาล ส่วนสหรัฐมีปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซาและประชาชนไม่เชื่อใจรัฐบาล
หลายปีที่โลกอยู่ในภาวะสุญญากาศอำนาจ จนกระทั่งโดนัลด์ ทรัมป์ตัดสินใจที่เปลี่ยนวิธีคิดของคนอเมริกันจากที่รู้สึกชิลๆ กับจีน ให้รู้สึกว่าจีนเป็นภัยคุกคามขึ้นมาในช่วงที่เขาต้องทำตามคำมั่นสัญญากับผู้ที่เลือกเขาเข้ามา
เพื่อที่จะกระตุ้นการจ้างงานและเศรษฐกิจที่ซบเซา ทรัมป์เริ่มสงครามการค้ากับจีน โดยสร้างภาพให้จีนเป็นตัวการทำลายการจ้างงานและทำลายอุตสาหกรรมสหรัฐ
เมื่อสงครามการค้าเกิดขึ้นมาแล้ว นักวิชาการบางกลุ่มก็ยังปักใจเชื่อว่าสหรัฐกับจีนจะไม่ "รบ" กันแน่นอน จนกระทั่งผ่านมาถึงปีนี้เงื่อนไขปัจจัยชัดขึ้นเรื่อยๆ แล้วว่าสหรัฐไม่ยอมอ่อนข้อและจีนก็ไม่ยอมเกรงใจอีก
ถามว่าถ้าไม่มีโดนัลด์ ทรัมป์จะมีประธานาธิบดีสหรัฐคนอื่นไหมที่จะท้าทายจีนอย่างแข็งกร้าวแบบนี้?
คำตอบก็คือ สหรัฐยังมีทางเลือกอื่นอีกที่ไม่จำเป็นจะต้องเผชิญหน้ากับจีนโดยอ้างว่าจีนตักตวงผลประโยชน์ ตัวอย่างเช่น โจ ไบเดน ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐที่ประกาศว่าถ้าเขาชนะทรัมป์ เขาทุ่มงบประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาโลกร้อน
แผนการของไบเดนคือสิ่งที่เรียกว่า Green New Deal เป็นสิ่งที่สมาชิกเดโมแครตผลักดันในช่วง 2 ปีมานี้ โดยใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจ้างงาน ในขณะเดียวกันจะไม่เน้นที่อุตสาหกรรมหนักที่ทำลายโลก แต่จะผลักดันการปฏิวัติสีเขียวเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะปัญหาเศรษบกิจและโลกร้อนเป็นเรื่องใหญ่พอๆ กัน
เราจะเห็นว่าไบเดนและพรรคเดโมแครตมองไกลไปกว่าจีน หาก Green New Deal ผลักดันสำคัญสหรัฐจะไม่ต้องเปลืองตัว "รบ" กับจีนไปอีกสักระยะปีเพราะจะวุ่นอยู่กับการปฏิรูปในประเทศ
ดังนั้นหนทางที่จะหลีกเลี่ยงกับดักของธูคูดีเดสในกรณีของสหรัฐก็คือทรัมป์ต้องแพ้เลือกตั้ง และไบเดนผลักดัน Green New Deal ได้สำเร็จ
ส่วนจีนจะต้องผ่อนคลายท่าทีกับอาเซียนเรื่องทะเลจีนใต้เพื่อปิดทางไม่ให้สหรัฐหาข้ออ้างเข้ามาใช้พื้นที่นี้ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง จีนจะต้องทำให้ประชาคมโลกมั่นใจว่าจะไม่แทรกแซงอิสระภาพของชาวฮ่องกง อันเป็นเหตุให้นานาประเทศหาเรื่องจีนอยู่ในขณะนี้ และบริษัทต่างๆ ของจีนต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องต่างๆ นานาของโลกตะวันตกเพื่อหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตร
แต่ความคาดหวังจากจีนเหล่านี้เรียกได้ว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
เหมือนกับที่แกรฮ์ม ที. แอลลิสัน บอกว่า "Hope is not a strategy" การมานั่งหวังลมๆ แล้งๆ ให้จีนเปลี่ยนแปลงตัว จะใช้เป็นยุทธศาสตร์ไม่ได้หรอก สหรัฐต้องทำแบบเดียวกับที่เคยทำกับสหภาพโซเวียตมาก่อน นั่นคือ "ชนลูกเดียว"
บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน
Photos by Dan Kitwood and Nicholas Kamm / AFP
July 15, 2020 at 10:33PM
https://ift.tt/2C4deZP
จีนกับสหรัฐถูกบีบให้ต้องสู้กัน เพราะโลกมีมหาอำนาจได้แค่หนึ่งเดียว - โพสต์ทูเดย์
https://ift.tt/3cN12d5
Bagikan Berita Ini
0 Response to "จีนกับสหรัฐถูกบีบให้ต้องสู้กัน เพราะโลกมีมหาอำนาจได้แค่หนึ่งเดียว - โพสต์ทูเดย์"
Post a Comment